posttoday

เบื้องหลังกฟผ.ตัด ITD หลุดแม่เมาะ ขาดคุณสมบัติอดงาน7พันล้าน

26 พฤศจิกายน 2567

เผยฉากหลัง ITD หลุดเหมืองแม่เมาะ กฟผ.ระงับจัดซื้อจัดจ้างงาน 7,250 ล้าน สงครามธุรกิจระหว่าง 'เปรมชัย กรรณสูต' กับ 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' แห่ง “สหกลอิควิปเมนท์"

          จากกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีคำสั่งด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ นั้น 

          ประเด็นที่น่าสงสัยคือ การใช้ "วิธีพิเศษ" ในการประมูล แทนที่จะเป็นการประมูลแบบเปิดทั่วไป ทั้งๆที่มีวงเงินสูงกว่า 7,000 ล้านบาท ด้วยการอ้างว่า การจ้างโดยวิธีพิเศษโดยการเชิญชวนบริษัทที่มีประสบการณ์ในงานเนื่องจากเป็นงานที่ต้องจ้างโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่งาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของ กฟผ.

          ทว่า ITD มีข้อเสนอมีรายละเอียดไม่เป็นไปตามขอบเขตของงานฯ และเงื่อนไขเฉพาะงาน ดังนี้

          1.เครื่องโม่ดิน มีรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักไม่ครบตามจํานวนที่เสนอ

          2. สายพานลําเลียงดินและเครื่องโปรยดิน ไม่มีแผนการปรับปรุงสภาพ(Reconditioning) ก่อนการทํางาน

          3.แบบดําเนินการที่เสนอขุดนอกขอบเขตพื้นที่การทํางานที่กําหนดไว้ ถือว่าแตกต่างจากแบบแปลนเหมืองที่ กฟผ. กําหนดซึ่งไม่ตรงตามเงื่อนไขใน TOR ที่กําหนดให้ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอรายงานผลการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรกลหลักซึ่งทําการตรวจสอบสภาพโดยหน่วยงานที่กฟผ. เชื่อถือ พร้อมทั้งแผนการปรับปรุงสภาพ(Reconditioning) ของเครื่องจักรกล มิฉะนั้น กฟผ. จะถือว่าผู้เสนอราคารายนั้นไม่ผ่านการพิจารณาด้านวิชาการ (Technical Part)

          ดังนั้นการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้และดําเนินการใหม่ อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส ที่ต้องการให้ผู้ที่มีข้อเสนอไม่ตรง TOR ได้เสนอราคาใหม่อีกครั้ง โดยไปตัดสิทธิ์ผู้ที่มีข้อเสนอตรงตาม TOR ทําให้มีความเสี่ยงต่อการอุทธรณ์และร้องเรียนจากผู้ที่เสนอราคาที่มีข้อเสนอถูกต้องตามเงื่อนไขใน TOR และส่งเอกสารครบถ้วนตามที่ กฟผ. กําหนด

          จากการตรวจสอบพบว่า เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าว คือการปะทะกันของ 2 ตัวละครสำคัญในวงการธุรกิจไทย ระหว่าง นายเปรมชัย กรรณสูต แห่งอิตาเลียนไทย และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ผันตัวมาจับธุรกิจเหมืองแร่

          โพสต์ทูเดย์ พบว่า การประมูลงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 มูลค่า 7,250 ล้านบาท ไม่ใช่เพียงการแข่งขันทางธุรกิจธรรมดา แต่แฝงไว้ด้วยข้อสงสัยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

          จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท พบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ ดังนี้

          สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) มีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลหรือ หม่อมอุ๋ย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 17 รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถือหุ้น 6.09% เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 

          บริษัท เอสวีพีเค จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 19.91% โดยมีตระกูลศิริสรรพ์เป็นเจ้าของ โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการทำเหมืองแร่ ปัจจุบันดำเนินงานเหมืองแม่เมาะโครงการ 8 อยู่แล้ว

          อิตาเลียนไทย (ITD) มีนายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่สุด 11.90% ขณะที่ครอบครัวกรรณสูตมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันมากกว่า 20% ซึ่ง ITD มีประสบการณ์งานก่อสร้างขนาดใหญ่มายาวนาน 

          จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พลโท ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ กฟผ. ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติผลประมูล ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ พ.ย. ก่อนที่ ITD จะยื่นอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ

          สำหรับ พล.ท.เจียรนัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กฟผ.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ซึ่งเป็นกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ที่นายพีรพันธุ์ จัดตั้งขึ้นหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 5 เดือน 

          ก่อนหน้านี้ พล.ท.เจียรนัย ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 ในยุคที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ของพรรคประชาธิปัตย์ โดย พล.ท.เจียรนัย เริ่มเป็นกรรมการ กคช.มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 ขณะที่ครองยศ พ.อ.(พิเศษ) จากการเสนอชื่อของนายจุติ

          พล.ท.เจียรนัย ขณะครองยศ พล.ต.ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2565 แจ้งบัญชีทรัพย์สินรวมกับของคู่สมรส 32.7 ล้านบาท

          นอกจากนี้ พล.ท.เจียรนัย เคยเป็นกรรมการธนาคารอาคารสงเคาะห์ (ธอส.) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอชื่อ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ถือเป็นรัฐมนตรีในโควต้า ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

          ขณะที่นายพีระพันธุ์ ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ผ่านมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) และเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในการสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งปี 2566

          ในช่วงที่นายพีระพันธุ์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ช่วยงานด้านกฎหมายในหลายประเด็น เช่น การฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงเป็นคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ เพื่อต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์ และ พล.ท.เจียรนัย อยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย

          สำหรับ พล.ท.เจียรนัย ศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่นที่ 135 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 40 จากนั้นได้ทุนไปเรียนปริญญาโทด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งถือเป็นวิทยาการที่ใหม่มากในประเทศไทยเมื่อปี 2538

          รวมทั้งได้ทุนเรียนจบปริญญาเอก สาขา Remote sensing and computer science จากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย ชีวิตรับราชการเคยเป็นอาจารย์กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อย จปร.