คลัง จ่อออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ช่วงไตรมาส 1 ปี68
สบน. เตรียมจำหน่ายพันธบัตรออกทรัพย์วงเงิน 3-5 หมื่นล้าน ในช่วงไตรมาส 1 ปี68 อายุ 3 ปี และ 5 ปี ส่วนแผนออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสีย และความคุ้มค่า ชี้มีความเสี่ยงหลังส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐยังห่างกันถึงเท่าตัว
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.มีแผนจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) กระทรวงการคลังในไตรมาส 1 ปี 2568 วงเงินรวม 3-5 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะมีอายุประมาณ 3 ปี และ 5 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการออกพันธบัตร 1 แสนล้านบาท เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ
สิ่งที่สบน.จะต้องพิจารณาถึงสถานะเงินคลัง รวมถึงสถานการณ์ตลาดในช่วงเวลานั้นด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนวัตกรรมเพื่อมีความน่าตื่นเต้น และน่าสนใจสำหรับประชาชน นักลงทุน
สำหรับการออพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดีและข้อเสีย ต้องพิจารณาความเหมาะสมรอบด้าน ภายใต้เงื่อนไข ต้องคุ้มค่า ต้นทุน และความเสี่ยงหากออกไป รวมถึงจังหวะที่เหมาะสมในการออกจำหน่ายที่ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศจะต้องไม่ห่างกันมาก ดังนั้นสบน.ยังไม่รีบออกเพราะต้นทุนค่อนข้างสูง จากส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังห่างกันถึงเท่าตัว และตามกฎหมายระบุว่า หากจะดำเนินการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ จะต้องมีการระบุชัดเจนว่าจะนำเงินไปใช้ในโครงการอะไร ไม่สามารถนำมาใส่ไว้ในงบชดเชยขาดดุลได้
สบน.จะต้องพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่าว่าทำแล้วได้ใช้ประโยชน์อะไร นำเงินมาทำอะไร จะใส่ไปงบประมาณเพื่อชดเชยการขาดดุลก็คงไม่ได้ รวมทั้งดูถึงอัตราดอกเบี้ยตลาด ซึ่งในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังสูงอยู่ที่ 4% ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 2.5% ถือว่ายังห่างกันมาก ซึ่งเป็นส่วนต่างที่ห่างกันถึงเท่าตัว ทำให้สบนง.ยังไม่รีบออก แม้นักลงทุนต่างชาติแสดงความสนใจสอบถามเข้ามาจำนนวนมากก็ตาม
นายพชร ยังระบุถึงการสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) ในพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยนักลงทุนมีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงินการออก 20,000 ล้านบาท ที่ประกาศไว้และทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถออก SLB ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2.70% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ 2.73% ต่อปี
โดยมีนักลงทุนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งการออก SLB ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลประเทศแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่สามของโลกที่ประสบความสำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลีและอุรุกวัย
ทั้งนี้ SLB ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้ออกพันธบัตรจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ และเป้าหมายด้านความยั่งยืน ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยในครั้งนี้ KPIs ประกอบด้วย 1. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้) โดยมี SPTs ไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ. 2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก 30% จากค่า Business As Usual (BAU)) และ 2. ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) โดยมี SPTs ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี พ.ศ. 2573