AIS เปิดเคล็ดลับเครือข่ายบนดอย ฝ่าข้อจำกัด ดันเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว รับลมหนาว
ภาคเหนือ พื้นที่ท้าทายทั้งภูมิประเทศ พลังงาน และภัยธรรมชาติ AIS ใช้นวัตกรรมโครงข่ายและความมุ่งมั่นของทีมวิศวกร ปูพรมการเชื่อมต่อครอบคลุม ลึก ถึงทุกหมู่บ้าน สูง ไกล ในภาคเหนือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และหนุนการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว
เช้าวันหนึ่งที่อากาศหนาวเย็นกำลังพัดผ่านภาคเหนือของไทย ทีมงาน AIS นำโดย กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) AIS เดินทางขึ้นดอยที่โอบล้อมด้วยสายหมอกและภูมิประเทศที่ยากลำบาก เพื่อสำรวจพื้นที่ติดตั้งเครือข่ายสัญญาณใหม่ ท่ามกลางเสียงลมและทิวเขา AIS กำลังเขียนเรื่องราวใหม่ให้กับภาคเหนือ ด้วยการทลายทุกข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และพลังงาน
Cognitive Tech-Co เบื้องหลังสัญญาณอัจฉริยะ
เขาเล่าว่า แม้ว่าในวันนี้ AIS จะมีโครงข่ายสัญญาณทั้ง 5G และ 4G ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร แต่ AIS ยังคงเดินหน้ายกระดับความแข็งแกร่งของโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ที่เป็นตัวนำนวัตกรรมและโซลูชัน InnoVis Network มาพัฒนาคุณภาพการให้บริการและขยายเน็ตเวิร์คอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งยังนำ AI และ Autonomous Network เข้าเสริมศักยภาพของโครงข่ายสื่อสารเพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co
กิตติ งามเจตนรมย์ CTO แห่ง AIS
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก ทั้งในด้านทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่สูง มีทิวเขา เทือกเขา ภูเขา รวมถึงยังมีข้อจำกัดด้านแหล่งพลังงาน และปัญหาภัยทางธรรมชาติ แต่ AIS ก็ยังคงเป็นผู้นำที่สามารถส่งมอบประสบการณ์การดิจิทัลที่ตอบโจทย์ทั้ง ลึก สูง กว้าง ไกล ที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ
Autonomous Network ทำให้เน็ตเวิร์กมีความฉลาด ทั่วโลกมีการกำหนดความฉลาดอยู่ 5 ระดับ ซึ่ง AIS และ Indosat คือ 2 ประเทศจาก 20 ประเทศทั่วโลก ที่มีระดับความฉลาดสูงที่สุด โดย AIS อยู่ที่ 3.2 ขณะที่ Indosat อยู่ที่ 2.7 และ AIS กำลังจะพัฒนาสู่ 3.5 ในปีนี้
ความท้าทายของภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงและพื้นที่ห่างไกล การทำงานในพื้นที่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS และทีมวิศวกรของ AIS ไม่เคยถอดใจ พวกเขานำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้อย่าง Super Cell LINK เพื่อขยายสัญญาณจากจุดต่อจุด แม้แต่ในพื้นที่หลังทิวเขา ทีมยังใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม และไฮโดรเจน เพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งพลังงานในพื้นที่ห่างไกล
ความท้าทายกับการทำงานของ Super Cell LINK
"งานของเราไม่ใช่แค่การวางเสาและสายไฟ แต่คือการเชื่อมโยงชีวิตทุกชีวิตเข้ากับโลกดิจิทัล" วสิษฐ์ กล่าว พร้อมเล่าถึงความพยายามของทีมงานที่ต้องฝ่าฟันภัยธรรมชาติ และสภาพอากาศแปรปรวน เพื่อให้ภาคเหนือสามารถใช้งาน 5G และ 4G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS
AIS มุ่งสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทย ด้วยการเดินหน้าขยายโครงข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้คน และสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน อาทิ การขยายเครือข่ายสัญญาณและอินเทอร์เน็ตโรงเรียน ตชด. ในพื้นที่ห่างไกล, การนำ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการเครือข่ายในช่วงวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเครือข่ายสื่อสารจะสามารถใช้งานได้ และส่งต่อความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
สนับสนุนโครงข่ายดิจิทัลเพื่อระบบโทรมาตรอัตโนมัติ, การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในโครงการ Green Energy Green Network For Thais พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโครงข่ายดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล
ทั่วประเทศ AIS มีเสาสัญญาณ 40,000 ต้น ในจำนวนนี้เป็นสถานีฐานโซล่าเซลล์ 13,384 ต้น ในจำนวนนี้อยู่ที่ภาคเหนือ 1,600 ต้น เพราะพื้นที่ภาคเหนือไม่เหมือนเกาะในภาคใต้ ผู้คนไม่ได้อาศัยแค่เพียงบนยอดเขา แต่ยังมีหุบเขาของภาคเหนือที่ผู้คนอาศัยอยู่ด้วย
เสาส่งสัญญาณ AIS ที่มีแผงโซล่าเซลล์
นอกจากนี้ปัญหาภัยพิบัติ ไฟป่า ก็ส่งผลต่อไฟฟ้า ทำให้การออกแบบเสาส่งสัญญาณของ AIS ต้องผสมผสานกันระหว่างการใช้ไฟฟ้า, การใช้ไฟฟ้า+โซล่าเซลล์ ,และโซล่าเซลล์ 100 % ซึ่ง AIS มีอยู่กว่า 100 ต้น นอกจากนี้พลังงานที่นำมาใช้กับโซล่าเซลล์ ยังต้องมีการผสมผสานระหว่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ พลังงานน้ำ เพราะพื้นที่ภาคเหนือ มีทั้งแดด และลม
พื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมีความท้าทายอย่างมากในการวางแผนและออกแบบโครงข่ายให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า ด้วยพื้นที่สูง ทิวเขา หรือดอยต่างๆ ที่มีความสลับซับซ้อน ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และแหล่งพลังงาน ทำให้ทีมวิศวกรต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างมากในการทำงาน ประกอบการใช้พลังงานธรรมชาติอย่างโซลาร์เซล กังหันลม และไฮโดรเจน
ผู้บริหารและทีมวิศวกร AIS
Super Cell LINK ที่จะเป็นการขยายระยะการส่งสัญญาณเพื่อเชื่อมโยงจากจุดต่อจุด ทั้งจากพื้นที่ราบและพื้นที่หลังทิวเขามาสู่พื้นที่ร่องเขาด้านล่าง เพื่อยกระดับ Digital Inclusion ในพื้นที่ห่างไกลหรือในมุมอับสัญญาณที่อาจจะถูกบดบังจากภูเขาและพื้นที่สูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบ AI ในการบริหารจัดการการใช้งานในแต่ละพื้นที่
AIS ไม่ใช่แค่สัญญาณโทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร
อาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ AIS กล่าวว่า ภาคเหนือ ประกอบด้วย 18 จังหวัด 78% เป็นภูเขา ภาคเหนือมี 4 เทือกขา ประกอบด้วย ทิวเขาแดนลาว ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาหลวงพระบาง และทิวเขาผีปันน้ำ ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง มีปัญหาไฟป่า และภัยพิบัติ การทำงานนอกจากการคุมคุณภาพของสัญญาณเพื่อให้บริการครอบคลุมแล้ว การแก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ทีมภาคเหนือทำอยู่ตลอดเวลา
หลังจากภาคเหนือเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ โครงข่ายดิจิทัลของ AIS กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเชื่อมต่อและส่งต่อความช่วยเหลือ ซึ่งบ้านกื้ดช้าง อ.แม่แตง เป็นพื้นที่หนึ่งที่ AIS เข้าไปช่วยเหลือคนและช้างในพื้นที่
อาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ AIS
อ.แม่แตง เป็นพื้นที่ที่มีปางช้างมากที่สุดในประเทศไทย มีช้างอยู่ 418 เชือก กระจายตามปางช้างต่างๆ ก่อนโควิดมีรายได้ 2 ล้านบาทต่อวัน หลังโควิดรายได้สูงสุด 6-7 แสนบาทต่อวัน ย้อนกลับไปเมื่อเกิดอุทกภัยวันที่ 6-10 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ไฟฟ้าดับ ทำให้ชาวบ้านใช้โทรศัพท์ไม่ได้ ไม่สามารถประสานงานกับชาวบ้าน หรือ ประสานงานขอความช่วยเหลือช้างที่ถูกน้ำท่วมอย่างเฉียบพลันได้ ซึ่งในต.กึดช้าง AIS มีเสาอยู่ 6 ต้น แต่อยู่ในปางช้าง 1 ต้น
โชคดีที่ไฟเบอร์ไม่ขาด เพราะเน็ตเวิร์ก ของ AIS ใช้สายไฟเบอร์เป็นหลัก ทีมงาน AIS ต้องนำแบตเตอรี่ ขึ้นไปเปลี่ยนที่เสาสัญญาณทุก 3 ชั่วโมง และต้องใช้ AI ในการบริหารจัดการเพื่อให้ใช้ดาต้าน้อยที่สุดเพื่อประหยัดแบตเตอรี่ เพราะเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ประชาชนเน้นการโทรสื่อสารมากที่สุด ระบบก็จะบริหารจัดการให้เหมาะสม ขณะที่ในบางพื้นที่ AIS ก็นำรถส่งสัญญาณดาวเทียมเคลื่อนที่ช่วยกระจายสัญญาณด้วย
บ้านกื้ดช้าง
ดัสกร ศรีดวงแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง เล่าว่า “ต.กื้ดช้าง ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน 5 ชาติพันธุ์ ตอนน้ำท่วมทำให้ติดต่อใครไม่ได้ สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ”
ภูมิประเทศที่เป็นความท้าทายของ AIS กลับเป็นความหลงไหลของนักท่องเที่ยว และผู้คนที่อยู่อาศัย ทำให้โครงข่ายสื่อสารของ AIS ภาคเหนือมีความพร้อมมากกว่าการเป็นระบบสื่อสาร อาทยา กล่าวว่า สัญญาณของ AIS ต้องสามารถตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม ผู้บริโภคทั่วไป กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเดินทางและทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ Digital Nomad
ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานต่างชาติ และภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารในพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีความครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา, อุทยานแห่งชาติแม่ปิง, ห้วยกุ๊บกั๊บ, ทุ่งเกี๊ยะ, บ้านป่าข้าวหลาม, และดอยม่อนล้าน เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยวให้มีความสะดวกสบาย พร้อมส่งต่อคอนเทนต์ผ่านโลกออนไลน์ได้แบบไร้ขีดจำกัด
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
“อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่ 9.2 แสนไร่ มีแพผู้ประกอบการ 10 ราย มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 30,000 คนต่อปี สร้างรายได้ 3 ล้านบาทต่อปีช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เน็ตเวิร์กจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านห่างไกลในอุทยานที่ต้องการใช้สัญญาณมือถืออีก ” อานนท์ กุลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อธิบายเพิ่มเติม
ด้วยวิสัยทัศน์ Cognitive Tech-Co AIS ยังคงเป็นผู้นำที่ไม่เพียงแค่เชื่อมต่อเครือข่าย แต่ยังเชื่อมต่อความฝันและโอกาสของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศ "ทุกเสาสัญญาณที่เราติดตั้งคือการเปิดประตูสู่อนาคต" กิตติ กล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมยืนยันว่า AIS พร้อมต้อนรับฤดูท่องเที่ยวด้วยเครือข่ายที่ลึกที่สุด สูงที่สุด กว้างที่สุด และไกลที่สุดในภาคเหนือ เพราะพวกเขาไม่ได้เห็นแค่เสาสัญญาณ แต่เห็นอนาคตของชุมชนที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับโลกดิจิทัล