posttoday

“พิชัย” ชงแรงหั่นภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% -ขึ้นVAT หนุนลงทุน-ลดความเหลื่อมล้ำ

03 ธันวาคม 2567

พิชัย รมว.คลัง เร่งเครื่องปรับโครงสร้างภาษี ชงอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ15% จาก 20% ขึ้นภาษีVAT สร้างการแข่งขันสอดคล้องทั่วโลก เพิ่มจัดเก็บรายได้เข้ารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระบุอยากเห็นดอกเบี้ยต่ำ-คุมบาทแข็ง หนุนส่งออกไทยแข่งขันได้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาภายในงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” ภายใต้หัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอัตราการเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อบ้าน โดยมีปริมาณการลงทุนใหม่น้อยเมื่อเทียบกับอดีต หรือมีการลงทุนต่ำกว่า 20%ต่อจีดีพี นอกจากนี้ไม่มีนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนให้มีความต่อเนื่องที่เอื้อหนุนเศรษฐกิจ แต่ข้อดีมีสภาพคล่องในระบบเหลืออยู่จำนวน

ทั้งนี้ เห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิต ถือว่าเป็นโอกาสของไทย ที่นักลงทุนต่างประเทศจะเลือกในไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากไทยมีพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนจำนวนมาก พร้อมตอบสนองการผลักดันพลังงานสีเขียวเพื่อความยั่งยืน  ขณะที่บุคลากรของไทยมีศักยภาพ มีพื้นฐานที่ดี เมื่อดูองค์ประกอบเหล่านี้ไทยจึงมีปัจจัยครบถ้วนที่เขาน่าจะเลือกเข้ามาลงทุนที่ไทยมากสุดในช่วงนี้ ซึ่งตอนนี้ธุรกิจที่เข้ามาจะเป็นธุรกิจที่ตอบสนองความั่งยืนพลังงานไฟฟ้า เช่น อีวี พลังงานสะอาด แบตตาลี่ ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนแสดงความสนใจ 7 แสนล้านบาท ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าเรามีความพร้อมรองรับธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น และมี โลจิสติกส์ที่ดี อย่างไรก็ตามรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสนับสนุนการปรับปัญหาเชิงโครงสร้าง มีนโยบายการเงินที่สนับสนุนการลงทุนให้มากขึ้น แน่นอนภาคธุรกิจอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจที่ต่ำลง จากปัจจุบันที่ 2.25%

หลายคนอาจกังวลว่าเมื่อดอกเบี้ยต่ำลงอาจกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนเพราะของแพงขึ้น ทั้งนี้คาดว่า เงินเฟ้อปีนี้น่าจะปรับตัวขึ้นไม่น่าเกิน1%ต่อปี ขณะที่เพื่อบ้านอยู่ที่ 1-4% แปลว่า ยังมีช่องว่างในการทำนโยบายการเงินมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยน อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเรื่องนี้มองว่าค่าเงินบาทน่าจะปรับตัวอ่อนยาก เพราะคนเชื่อมั่นประเทศไทยมาก เนื่องจากเม็ดเงินทุนไหลเข้ามาไทยค่อยข้างมาก ทำให้เงินบาทยังอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป แต่ต้องไม่อ่อนค่าเกินไปด้วย ดังนั้นจึงอยากเห็นนโยบายการเงินเข้าผลักดันเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออก 65-7% ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลให้ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบครอบและมีความเป็นอิสระ 

ดังนั้นนโยบายเงิน และการคลังต้องสนับสนุนการขยายต่อเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจโตนำเงินมาสนับสนนุนเอกชนได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวขอ้ง เร่งพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้รัฐเช่น การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% จาก 20% เพื่อให้แข่งขันกับชาวโลกได้ ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ทำกัน ขณะที่ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ของไทยปัจจุบันอยู่ที่7% ขณะที่กฎหมายกำหนดให้ขึ้นได้ถึง 10% ขณะที่ทั่วโลกอยู่เก็บกันที่ 15-25% แปลว่าเราเก็บภาษีบริโภคน้อยไป แต่อยากบอกว่าถ้าเราเก็บในอัตราส่วนที่สูงขึ้นและเหมาะสมจะช่วยให้คนรายได้ต่ำรอด ลด่องว่างคนรวยกับคนจนได้ โดยเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบครอบค่อยเป็นค่อยไป โดยตอนนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน

“คนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง Sensitive  แต่อยากบอกว่า ถ้าเก็บสูงขึ้นและเหมาะสมจะช่วยให้คนรายได้ต่ำรอด ลดช่องว่างคนระหว่างคนรวยคนจน จะเห็นว่าจีนเก็บ VAT ที่ 19% สิงคโปร์ 9% ขณะที่หลายประเทศ เก็บเกือบ 20% จะเห็นว่าถ้าเราเก็บต่ำ ทุกคนจ่ายต่ำ เงินส่งกลับเข้ารัฐจะมีข้อจำกัด ถ้าเก็บสูงขึ้น ตามยอดการใช้เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น ก็นำเงินก้อนนี้ไปส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา เพื่อให้โอกาสคนมีรายได้น้อย และไปสร้างความสามารถแข่งขันให้เอกชน นำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นทุนเอกชนต่ำลง เมื่อต้นทุนถูกลง การส่งออกก็จะถูกลง แต่เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากที่ว่าเราจะทำยังไงให้คนเข้าใจก่อน”