‘ทุนจะไหลไปไหน?’ จากมุมมองของ ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ เครือเจริญโภคภัณฑ์
ศุภชัย เจียรวนนท์ หัวเรือใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP แชร์มุมมอง ‘ทุนโลกจะไหลไปทางไหน’ ในงาน Sustainability Forum 2025
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ Shaping Thailand’s Sustainable Future งาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ณ สยามพารากอน ว่า
องค์กรสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายของความยั่งยืนไว้และตั้งเป้าหมายความสำเร็จที่ปี 2030 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทั่วโลกทำได้เพียงแค่ 17% และยังไม่ครอบคลุมทุกมิติ ทำให้สหประชาชาติเกิดการเรียกร้องภายใต้คำนิยามใหม่ว่า Forward Faster คือ ไปให้เร็วขึ้นอีก โดย 1 ใน 5 เรื่องที่ทางสหประชาชาติประกาศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้เร็วขึ้น คือ จะทำอย่างไรให้ทุนหลั่งไหลเข้าไปเพื่อทำให้ SDGs บรรลุเป้าหมายได้ โดยมองว่าต้องการทุนอีกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ นายศุภชัยกล่าวว่าโลกจะขับเคลื่อนไปในแนวทางที่เรียกว่า 3D คือ
Digitalization การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมองว่าเทรนด์นี้จะทำให้เกิดเงื่อนไขสำคัญคือ ‘การใช้พลังงาน’ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็น Climate Change ว่าต้องเป็นพลังงานสะอาด
“ ประเทศไทยก็ได้รับอานิสงส์ดังกล่าว อย่างเช่น Data Center เดิมอยู่ที่สิงคโปร์ แต่หลังจากนี้สิงคโปร์บอกว่าไม่มีพื้นที่และพลังงานสะอาดเพียงพอ จึงเกิดการอพยพของการตั้ง Data Center มาที่มาเลเซีย ทำให้ 5 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียมีการลงทุนดังกล่าวมากกว่าไทยถึง 1:10 เท่า แต่ขณะนี้เงินลงทุนดังกล่าวกำลังจะมาประเทศไทยในอัตรา 1:1 หรือมากกว่า
สาเหตุมาจากปัจจัยทางสงครามศาสนา ทุนใหญ่ๆ จากอเมริกาจึงมองว่าควรจะลงทุนในประเทศที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความหลากหลาย’ จึงมองมาที่ประเทศไทย โดยในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา การลงทุนเกินกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ"
นอกจากนี้ นายศุภชัยยังกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันการใช้ 'พลังงานนิวเคลียร์' โดยมองว่ากลุ่มประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดคือยุโรป ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และจีนกำลังจะผลักดันการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างเต็มที่ เปลี่ยนจากการใช้พลังงานจากถ่านหินซึ่งแต่เดิมใช้อยู่มากกว่า 61% เพราะเกิดการต่อต้านขึ้น
“ พลังงานนิวเคลียร์ อาจเคยถูกมองว่าเป็นตราบาป แต่เรากำลังพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลังงานไม่ใช่เพื่อสงคราม มันควรจะเป็นพลังงานที่นำมาใช้หรือไม่” นายศุภชัยตั้งคำถาม
โดยกล่าวเสริมว่า ยิ่งเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลมากเท่าไหร่ ความต้องการใช้พลังงานจะมากขึ้นเท่านั้น
“ ลองจินตนาการว่า ถ้าทุกบ้านทุกโรงงานมีหุ่นยนต์ ใช้ AI เราจะใช้ไฟกันอีกขนาดไหน”
ต่อมาคือ Deglobalization ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากนโยบาย China + 1 ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนในประเทศจีนมองว่าไทยไม่มีการกีดกันทางการค้า และหันมาลงทุนมากขึ้น ทั้งในเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค ความมั่นคงทางอาหาร รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
และสุดท้ายคือ Decarbonization โดยนายศุภชัยมองถึงความรุนแรงของสถานการณ์การปล่อยคาร์บอนว่า สหประชาชาติรายงานว่าปัจจุบันอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.45 องศาเซลเซียส และน่าจะทะลุไปถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น 6 เมตร อย่างไรก็ตามถ้าขั้วโลกใต้น้ำแข็งละลายหมดเช่นกัน จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 60 เมตร ซึ่งโลกเคยเจอมาแล้ว คือในยุค Ice Age
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ประชากรอดอยาก จะสูงขึ้นถึง 1,700 ล้านคน หากอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส จากประชากร 8 พันล้านคนทั่วโลก
“เราพูดถึงปริมาณข้าวโพด ข้าวสาลี ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบของอาหารทั้งหมด เพราะเป็นอาหารของสัตว์ สิ่งเหล่านี้จะถดถอย เราต้องลงทุนมหาศาลเพื่อที่จะทดแทนในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งและภัยน้ำท่วม“ นายศุภชัยกล่าว
นอกจากนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ยังชี้ให้เห็นถึงการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ตั้งเป้า Net Zero ในปี 2030-2050 ซึ่งทำให้เห็นการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น Google ลงทุนในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ หรือ Walmart มีนโยบาย Green Fund ให้กับซัพพลายเออร์
ทั้งนี้ ทางด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ตั้งเป้า Net Zero ไว้ที่ปี 2050 ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“ในปี 2024 เราลดการปล่อยคาร์บอนเครดิตได้ไม่ถึงเป้าหมาย ห่างเป้าหมายไป 0.5 ล้านตัน ซึ่งทำให้ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อทดแทนเป้าหมายที่เราเข้าไม่ถึง ส่วนใหญ่มาจากการปลูกป่า เป็นต้น
และส่วนที่เรากำลังทำคือ ‘Data Center’ เราจะมีการทดสอบว่ามีพลังงานสะอาดกี่ส่วน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังได้อานิสงส์ เพราะเราให้สัญญาว่าเราจะมีพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน“