posttoday

“TDRI” ประเมินผลงาน 90 วัน" รัฐบาลแพทองธาร" ให้คะแนน 6 เต็ม 10

12 ธันวาคม 2567

TDRI ตรวจการบ้าน รัฐบาลแพทองธาร มองช่วงแรกทำนโยบายแบบ “ลูบหน้าปะจมูก เอาตัวรอดไปก่อน” ไม่สร้างความยั่งยืน ให้คะแนนเข็นแจกเงิน 10000 เฟสแรกสำเร็จ-ดึงเงินลงทุนเข้าไทย-แก้หนี้ครัวเรือนเด่น

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวประเมินผลงานครบ 90 วัน ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ถ้าให้มองผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งทำต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา  เห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการพอสมควร แต่ในช่วงแรกที่เห็นความก้าวหน้าจะเป็นการแก้ไขปัญหา “แบบลูบหน้าปะจมูก เอาตัวรอดไปก่อน” เช่น ช่วยกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่น้ำแล้งน้ำท่วม , แจกเงินดิจทัล หมื่น 10,000 บาท เฟสแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ , นำร่องค่าแรง 400 บาทในบางพื้นที่ บางอาชีพ , อุดหนุนลดค่าครองชีพด้วยการแทรกแซงค่าไฟ ราคาน้ำมัน ไปจนถึงการแก้หนี้ด้วยการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาในส่วนนี้แม้ว่าอาจจำเป็นอยู่บ้าง แต่เป็นโจทย์ที่ง่าย และมักจะมีการดำเนินการในลักษณะนี้แทบจะทุกยุคทุกสมัย โจทย์ยากจึงอยู่ที่การดำเนินการในขั้นต่อไปที่ต้องสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาให้ได้

ทั้งนี้ ด้านการดึงเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาล เห็นตัวเลขที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อาจจะเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ดูดี แต่ก็มีคำถามเสมอว่าคนไทย ธุรกิจไทยจะได้ประโยชน์อะไร

ขณะที่การแก้หนี้เห็นความพยายามที่ดีขึ้น มีการร่วมมือกันกับ ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย เจาะลึกแก้ไขปัญหาได้ดี แต่จะเกิดความยั่งยืน มีความรู้ทางการเงินดีพอ ไม่กลับมาเป็นหนี้เสียได้อีกไหม

สำหรับนโยบายค่าแรง ถ้าได้ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ก็ต้องดูว่าผลกระทบต่อพวกตัวเล็กๆ SMEs เป็นอย่างไร ส่งผลคนตกงานมากหรือไม่ ซึ่งแปลว่าต้องมีมาตรการมารองรับที่ดีพอ จึงยังต้องดูกันต่อไป

ผมให้คะแนนที่ 6 จากการทำหน้าที่เฟสแรกได้ตามที่คาด และเพิ่มคะแนนในส่วนของการดึงดูดการลงทุนกับการแก้หนี้ที่เด่นขึ้นมา ส่วน 4 คะแนนที่ถูกหักไป เพราะผลงานตามนโยบายที่ประกาศไว้หลายอย่าง ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม

สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลแพทองธารในปี 2568 นั้น อาจจะต้องเพิ่มเรื่องการปรับตัว และการกระจายอำนาจให้ผู้ว่ากลายเป็น CEO สามารถดูแลจัดการปัญหาได้ ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นทิศทางแนวนี้

ส่วน ปัญหา ฝุ่น pm 2.5 ต้องเน้นภาคปฏิบัติให้เกิดผล จากแนวทางเดิมๆที่ให้ผลจำกัด เช่น การใช้ชุมชนช่วยกันจัดการ อันนี้เห็นผลงานบ้าง แต่ยังไม่ครบตามที่ภาควิชาการเสนอ และการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศทำได้อย่างจำกัด

สำหรับนโยบายแก้ปัญหาการผูกขาดพลังงาน ต้องเพิ่มการส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์รูฟท็อป ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะไปแนวนี้หรือไม่

ขณะที่การนำเอาธุรกิจขึ้นมาบนดิน ยังไม่เห็นประสิทธิผล หรือข้อมูลที่บ่งชี้ความสำเร็จมากนัก เช่น เรื่องสลาก 3 ตัวก็มีปัญหาการใช้งาน ได้รับความนิยมจำกัด