“TDRI” ประเมินจีดีพีไทยปี68 โต 2.4-2.8% ห่วงหนี้ครัวเรือนฉุดรั้งศก.
นักวิชาการ ชี้ หนี้ครัวเรือน-สงครามการค้า โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทยปี 68 ประเมินแจกเงิน 10,000 ผู้สูงอายุ 60 ปี กระตุ้นจีดีพีแผ่ว หนุนใช้ คนละครึ่ง เกิดผลทางเศรษฐกิจ 2 เท่า
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2568 ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตราว 2.4-2.8% ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.6% มีโดยมีปัจจัยมาจากเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น ภาคการส่งออก การลงทุน การบริโภค และภาคการท่องเที่ยวในปีหน้าจะทำงานได้ดีพอประมาณ คือ ไม่ดีเลิศ แต่ช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจได้
การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ถ้าจีดีพี โตได้ 3% คือว่าดี และถ้าเกิน 3.6% ถือว่าดีมาก ในปีหน้าโตราวๆ 2.4-2.8% ถือว่าดีแบบกลางๆ พอประคองตัวเอาตัวรอดเท่านั้น
โดย เครื่องจักรที่ช่วยประคองตัวที่เด่น คือ ภาคท่องเที่ยวที่จำนวนและเม็ดเงินน่าจะเติบโตได้ดี การลงทุนภาครัฐที่น่าจะกลับมาหลังจากรัฐบาลใหม่เริ่มตั้งหลักได้แล้ว ตามมาด้วยภาคเอกชนจากการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาได้มากในช่วงหลัง ส่วนการบริโภคกับภาคส่งออกน่าจะช่วยได้บ้างแต่ไม่มากจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าสหรัฐฯ และปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของจีน
ดังนั้นในปี 2568 เศรษฐกิจไทย มีโจทย์ความท้าทายสำคัญ คือ ระดับหนี้ภาคครัวเรือน และSMEs ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯว่าไทยจะลดทอนปัญหาและแสวงหาโอกาสได้อย่างไรบ้าง ซึ่งรวมไปถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจจีนด้วย
จุดเปราะบางต่างๆ ของปีหน้ายังเหมือนเดิม คือ การเติบโตแบบไม่เท่ากัน วิกฤติหนี้ครัวเรือน ร้านค้าเงียบ SMEs มีรายได้น้อยกว่า ก็ต้องเน้นเข้าไปหาทางยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เร่งแก้ปัญหาหนี้ กระจายเม็ดเงินในวงกว้าง ไม่ให้กระจุกตัว
สำหรับ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส2 สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้มองว่า การแจกเงินผู้สูงอายุคิดว่ามีมุมที่ช่วยเหลือได้ เพราะผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอมีเยอะพอสมควร แต่ก็จะได้แค่มุมการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่เห็นผลเท่าใดนัก เช่นเดียวกับเฟสแรก ดังนั้นเห็นว่า ถ้าอยากช่วยกลุ่มเปราะบาง ก็ช่วยแบบเจาะจงไปเลยดีกว่า เช่น เติมบัตรสวัสดิการ หรือ ช่วยกลุ่มเปราะบางเช่น คนพิการแบบพุ่งเป้าไปเลย
เรื่องเงินกระตุ้นไม่น่าจะเป็นผลมากนัก ดังที่เห็นจากโครงการระยะแรก เพราะเป็นเครื่องมือที่ไม่เหมาะสม ต้องหากลไกที่ดีกว่ามาทดแทน เช่น กลไกคนละครึ่ง ประสิทธิภาพของนโยบายดีกว่า เช่น คนใช้ต้องออกเงินตัวเองมาสมทบเงินรัฐ 1 บาทจึงเกิดผลสองเท่า