2 ยักษ์คลาวด์ต่างชาติ จ่อลงทุนไทยแสนล้านปี 68
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปีหน้าคาดว่าจะบริษัทคลาวด์ต่างชาติรายใหม่ เข้ามาลงทุนเพิ่มอีก 2 ราย มีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถบอกชื่อได้ ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากนโยบายคลาว์ดเฟิร์ส ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อาทิ กูเกิล ไมโครซอฟท์ และ ดาต้าแมกซ์ เข้ามาลงทุนด้าน เอไอ และดาต้าเซ็นเตอร์ กว่า 1 แสนล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่กระทรวงดีอีได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 มีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.7% จากปี 2566 และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของจีดีพี ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประมาณการว่าจะโต 2.6 % แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตไม่น้อยกว่า 5.7% เมื่อเทียบกับปีนี้
นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐ ช่วยจีดีพีประเทศเติบโต โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 23.9 % ของจีดีพี
นายประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังช่วยให้มีการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัลถึง 44,600 ล้านบาท ขยายตัว 17.2% คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกโดยรวม ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล และนโยบายต่างๆของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิขิทัลให้เติบโตต่อเนื่อง โดยทางกระทรวงดีอีจะดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การหาเครื่องมือใหม่มาใช้งาน เช่น คลาว์ดภาครัฐ บิ๊ก ดาต้า และโมเดลแอลแอลเอ็ม ภาษาไทย เกี่ยวกับแชทจีพีที 2. สร้างความปลอดภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และแก็งคอลเซ็นเตอร์
3. การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล โดยรวมมือกับภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา จากปัจจุบันที่มีความต้องารปีละ 1 แสนคน แต่ผลิตได้เพียงปีละ 3 หมื่นคน ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้ใช้เศรฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยร่วมของประเทศ ประเทศไทยจึงต้องเร่งผลักเคลื่อนให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการสดช.
ด้าน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สดช. กล่าวว่า การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน มีการขยายตัว 2.8% ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัว 4.5 % จากปี 2566 ส่วน การบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัว 5.6% สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่ 4.8% การบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 11.4% จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ โดย สภาพัฒน์ฯประมาณการว่า ปี 2570 เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี ซึ่งมีความเป็นไปได้ หากเศรษฐกิจดิจิทัลโตมากกว่า 2 เท่าของจีดีพีอย่างต่อเนื่อง