คลัง เร่งเครื่อง "เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ" ให้ทันบังคับใช้ ปีภาษี68
จุลพันธ์ รมช.คลัง เร่งกฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติที่เข้าทำธุรกิจในไทยไม่เกิน 15% ตามแนว OECD ให้ทันมีผลบังคับใช้ปีภาษี68 หวังโกยรายได้เข้ารัฐปีละหมื่นล้าน ชี้เริ่มก่อนได้เปรียบ ฟุ้งดันไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มใช้กลไกลนี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณี ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ… และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ… นั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ Global Minimum Tax คือการเก็บภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของ OECD และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่รับทราบว่ากำลังจะต้องเสียภาษีดังกล่าว โดยหากบริษัทข้ามชาตินั้น ๆ ไม่เสียภาษีนิติบุคคล 15% ที่ประเทศไทย ก็ต้องกลับไปเสียภาษีในประเทศบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าระดับที่กำหนด ดังนั้นส่วนใหญ่จึงอยากมาเสียภาษีที่ไทยมากกว่า โดยกรอบระยะเวลาการดำเนินการจะต้องให้ทันภายในปีนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2568 และจะให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2569 โดยเบื้องต้นคาดว่ากลไกนี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมให้กับรัฐราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
เรื่องนี้ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ ซึ่งไทยกำลังเร่งดำเนินการกฎหมายส่วนนี้ ดังนั้นเราจะเป็น 1 ใน 20 กว่าประเทศทั่วโลกที่จะเริ่มใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติ ถามกลับมา คือ หากเขามาเสียภาษีในไทยแล้วเราจะทำอะไรให้กับเขาบ้าง จึงเป็นที่มาของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งกองทุนนี้จะมีประโยชน์ คือ จะมีการนำเงินบางส่วนจากเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้เข้าไปใส่ไว้ และนำเงินมาสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเติมกลับเข้าไป เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วย