ดิจิทัลซัพพลายเชน เทรนด์มาแรง ปี 68 วงการโลจิสติกส์ไทย
วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน SPU เปิดเทรนด์ Digital Supply Chain และ Sustainable Supply Chain ผนึกกำลังเทคโนโลยี AI และ IoT พลิกโฉมโลจิสติกส์ไทย 2025 สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนการบริหารโซ่อุปทานด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) เปิดเผยว่า 2 เทรนด์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในปี 2568 คือ เทรนด์แรก Digital Supply Chain มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น
ขณะที่ภาพรวมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก จาก 167 ประเทศ ตามดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ และอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย มีเป้าหมายการพัฒนาด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์ให้ก้าวขึ้นสู่อันดับ 25 ภายในปี 2570
ประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งในการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.8 ล้านล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น
รวมถึงนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนผลักดันประเทศไทยสู่บทบาทการเป็นชาติการค้า “Trading Nation” ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งผลิตกำลังคนรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
สำหรับเทรนด์ที่ 2 คือ Sustainable Technology เป็นอีกเทรนด์พลิกโฉมโลจิสติกส์ไทยสู่ความยั่งยืน ในปี 2568 การพัฒนาโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) กลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
เทรนด์นี้เป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2566)
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เธอกล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Sustainable Supply Chain ตัวอย่างเช่น AI วางแผนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน และ IoT ติดตามสินค้า ควบคุมคุณภาพ ลดการสูญเสีย ประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความโปร่งใส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมหภาค และยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
จากเทรนด์ดังกล่าว วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน SPU ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการศึกษา ด้วยหลักสูตรที่ทันสมัยและยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลและ AI และตั้งเป้าหมายสู่การเป็น "Hub of Logistics High Competency" ภายในปี 2570 หลักสูตรของ SPU ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก และหลักสูตรระยะสั้น (Non-Degree) เพื่อตอบโจทย์อาชีพเร่งด่วน
หลักสูตรดังกล่าว เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง พร้อมเทคโนโลยีสมัยใหม่และกลยุทธ์การจัดการ และมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาหลักสูตร Digital Supply Chain & AI สร้างกำลังคนโลจิสติกส์แห่งอนาคต การพัฒนาหลักสูตรด้าน ดิจิทัลซัพพลายเชน และ AI เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทย สู่อุตสาหกรรมการผลิต 4.0/5.0 อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง ศูนย์กลางอาหารของโลก
ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ จากจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมอาหารของไทย รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาและเวชภัณฑ์ สมุนไพร ต้นไม้ ฯลฯ หรือเรียกโดยรวมว่า “สินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ” ที่จำเป็นต้องใช้โซ่อุปทานความเย็น (Cold Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ การรักษาคุณภาพของสินค้าตั้งแต่เกษตรกร กลางน้ำ ผู้ผลิตและแปรรูป และปลายน้ำลูกค้าในตลาดโลก
ปี 2568 ทางวิทยาลัยฯ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร จะเปิดตัวหลักสูตรระยะสั้น ใหม่ล่าสุด ในกลุ่มวิชาเฉพาะทาง ได้แก่ หลักสูตร “โซ่อุปทานอัจฉริยะและการวิเคราะห์ข้อมูล (Intelligent Supply Chain and Data Analytics)” เน้นองค์ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI เพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
รายวิชาที่เจาะเทรนด์สมัยใหม่ เช่น การจัดการโซ่อุปทานดิจิทัล (Digital Supply Chain Management) ระบบอัตโนมัติโซ่อุปทานแบบลีน (Lean Supply Chain Automation) การวิเคราะห์ข้อมูลโซ่อุปทาน (Supply Chain Data Analytics) การจำลองสถานการณ์ในโซ่อุปทานเพื่อการตัดสินใจ (Supply Chain Simulation for Decision Making) และการจัดการโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management)
ผ่านการเรียนกับตัวจริงประสบการณ์จริงลงมือปฏิบัติกับ สถานประกอบการในเครือข่ายพันธมิตร เช่น สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย (ThaiLog) สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) รวมถึงเครือข่ายในต่างประเทศ
จุดเด่นของหลักสูตรคือการสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งคิดเป็น 13-15% ของ GDP โดยการลดต้นทุนเพียง 1% สามารถประหยัดเศรษฐกิจได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี