สภาพัฒน์ เตือนจับตา 4 ปีหนี้สาธารณะ เสี่ยงขยับเกินกรอบวินัยการคลัง
สภาพัฒน์ แนะรัฐบาลเร่งสร้างเสถียรภาพการคลัง หลังเห็นสัญญาณ 4 ปี หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสวนทางรายได้ เสี่ยงทะลุกรอบวินัยการคลัง ฉุดพื้นที่ทางการคลังลดลง หวั่นไม่เพียงพอรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจในอนาคต
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของครม. โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
สถานะทางการคลังตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้ 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังคงต่ำกว่า 15% ขณะที่สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายต่อ GDP เฉลี่ย 18.8%
ส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังลดลง และอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐานจนทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูงเกินกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณรายจ่ายมากขึ้นในการประคับประคอง และแก้ไขปัญหา
ดังนั้น การเร่งรัดการสร้างเสถียรภาพทางการคลังจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งความชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ
รวมทั้งการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความเสี่ยงจากการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ที่เพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง และการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในระยะถัดไปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด
สำหรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดายละเอียด รายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย ดุลการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สรุปได้ดังนี้
รายได้รัฐบาลสุทธิ
ปี 2569 อยู่ที่ 2.92 ล้านล้านบาท
ปี 2570 อยู่ที่ 3.10 ล้านล้านบาท
ปี 2571 อยู่ที่ 3.24 ล้านล้านบาท
ปี 2572 อยู่ที่ 3.39 ล้านล้านบาท
งบประมาณรายจ่าย
ปี 2569 อยู่ที่ 3.78 ล้านล้านบาท
ปี 2570 อยู่ที่ 3.86 ล้านล้านบาท
ปี 2571 อยู่ที่ 3.97 ล้านล้านบาท
ปี 2572 อยู่ที่ 4.09 ล้านล้านบาท
ดุลการคลัง
ปี 2569 ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท
ปี 2570 ขาดดุล 7.6 แสนล้านบาท
ปี 2571 ขาดดุล 7.2 แสนล้านบาท
ปี 2572 ขาดดุล 7.0 แสนล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง
ปี 2569 อยู่ที่ 13.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67.30% ต่อ GDP
ปี 2570 อยู่ที่ 14.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 68.50% ต่อ GDP
ปี 2571 อยู่ที่ 14.98 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.20% ต่อ GDP
ปี 2572 อยู่ที่ 15.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.30% ต่อ GDP
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
ปี 2569 อยู่ที่ 20.08 ล้านล้านบาท
ปี 2570 อยู่ที่ 20.89 ล้านล้านบาท
ปี 2571 อยู่ที่ 21.74 ล้านล้านบาท
ปี 2572 อยู่ที่ 22.67 ล้านล้านบาท