"จื้อ-เล่อ พัฒนา" ชูจุดเด่น ค่าเทอม 50,000 บาท นำ AI เสริมแกร่งการศึกษา
โรงเรียนสามภาษา จื้อ-เล่อ พัฒนา บุกตลาดการศึกษา ชูจุดเด่นค่าเทอมเริ่มต้นเพียง 50,000 บาท นำ AI เพิ่มประสิทธิภาพการสอน ตั้งเป้าขยายแคมปัสอีก 5-7 แห่งทั่วประเทศ ภายใน 10 ปี ขณะที่ตลาดโรงเรียนนานาชาติปี 67 มูลค่า 8.7 หมื่นล้าน เติบโต 13%
วอลเตอร์ ลี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสามภาษา จื้อ-เล่อ พัฒนา เปิดเผยว่า ในปี การศึกษา 2568 สามภาษา จื้อ-เล่อ พัฒนา จะเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ โดยชูจุดเด่นด้วยหลักสูตรที่มีคุณภาพสูงแต่ราคาค่าเทอมเริ่มต้นเพียง 50,000 บาท เพื่อช่วยพัฒนาเยาวชนไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างมั่นใจ โดยตั้งเป้าขยายแคมปัสเพิ่มอีก 5-7 แห่งทั่วประเทศภายใน 10 ปี
โรงเรียนสามภาษา จื้อ-เล่อ พัฒนา เตรียมเปิดสอนหลักสูตร Intensive Chinese-English Program (ICEP) ในปีการศึกษา 2568 สำหรับเด็กอายุ 2-11 ปี โดยจัดสัดส่วนการเรียนรู้แบบสมดุลระหว่างภาษาไทย 40%, ภาษาอังกฤษ 30%, และภาษาจีน 30% ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะภาษาและมุมมองระดับโลก
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยี AI และการเรียนรู้แบบ Interactive เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนและความน่าสนใจของบทเรียน โดยหลักๆจะนำมาใช้ช่วยในการออกแบบการเรียนภาษา จีนและภาษาอังกฤษ แบบ Interactive ทำให้ เด็กสามารถเรียนรู้และใช้ภาษาได้จริง ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายภาษาจะช่วยสร้างเยาวชนไทยที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โรงเรียนสามภาษา จื้อ-เล่อ พัฒนา ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดช่องว่างทางการศึกษา
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 2567 ภาพรวมจำนวนโรงเรียนลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า แตะ 33,098 โรงเรียน แต่หากเทียบกับปีการศึกษา 2555 จะหดตัวถึง 6.6% หรือคิดเป็นราว 2,355 โรงเรียน เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ทำให้ในระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราการลดลงเฉลี่ยถึง 0.6% ต่อปี รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยก็มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี
ทว่าภาพรวมจำนวนนักเรียนในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กลับสวนทางกับจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ โดยปีการศึกษา 2567 จำนวนนักเรียนในไทยลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้น 10.2% คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราว 13% จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท
แต่ด้วยการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติ โดยในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท อาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกเรียนโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษและสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา