สภาอุตสาหกรรม จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 ห่วงธุรกิจโลกเก่าล้าสมัย ส่งออกไม่ได้
สภาอุตสาหกรรม จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบส่งออกไทย ห่วงอุตสาหกรรมโลกเก่า ล้าสมัย ล้มหายตายจากเร็ว เสนอรัฐ-เอกชน ร่วมตั้ง War Room จับตาการเปลี่ยนแปลง เร่งเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 หัวข้อ “Trump 2.0: The Global Shake Up” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีหลายประเด็นต้องจับตา โดยครังนี้ใช้นโยบาย Reshoring เพื่อดึงเงินลงทุนกลับมา สนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยจะมีการใช้กลไกภาษีในการจูงใจนักลงทุน ด้วยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% เหลือ 15%
ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคการผลิตทั้งหมด โดยมีการส่งเสริมและขยายการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน รวมทั้งการขุดเจาะ Shale Gas และ Shale Oil ที่เคยถูกยุติการผลิตไปแล้วในช่วงของประธานาธิบดีไบเดน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 กลับมา ซึ่งจะทำให้ส่งผลต่อหลายอุตสาหกรรมของโลกมากเช่นกัน
ส่วนการขึ้นภาษี ได้ประกาศออกมาแล้วว่าประเทศที่เป็นคู่ค้าจะโดน 20% โดยเฉพาะจีน ถูกตั้งกำแพงภาษีถึง 60-100% ส่วนกลุ่มประเทศ Near Shoring หรือกลุ่มที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งอยู่ข้างบ้าน หรือใกล้กับสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโก ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่า 80% ของการผลิตทั้งหมด ก็เป็นประเทศที่ถูกจับตา สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่า เมื่อการตั้งภาษีสูง จะเกิดการโยกย้ายเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี แต่จากนี้ไปจะมีการตรวจสอบค่อนข้างชัดเจนขึ้น
ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ
ฉะนั้นสิ่งที่สภาอุตสาหกรรมมองคือ ท่ามกลางวิกฤตอาจจะเป็นตัวเร่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่อยู่ในประเทศไทยมากว่า 40-50 ปี ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) และผลิตสินค้าที่เริ่มล้าสมัย เป็นสินค้าที่อยู่ในโลกเก่า แต่การถูกดิสรัปชันครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างของประเทศทั้งหมด เพียงแต่ว่าไทยจะฉวยโอกาสเหล่านี้ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นเป้าหมายของสภาอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ จะช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็ง หรือทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้ปรับตัวเป็นผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบ (ODM) แต่ถ้าเก่งสุดก็ไปสร้างแบรนด์ของตนเอง (OBM)
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน คือการใส่นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้กรอบเรื่องความยั่งยืน เช่น การใช้พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียว การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ผ่าน 3 กลุ่ม คือ 1.S-Curve ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำหน้า 2.BCG และ 3.Net Zero เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือกลุ่มที่สภาอุตฯ พยายามผลักดัน
สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างสมดุลย์ระหว่างอุตสาหกรรมเก่า ดั้งเดิมไม่ให้ล้มหายตายจากเร็วเกินไป อย่างกรณีอุตสาหกรรม Automotive ปี 2567 ได้รับผลกระทบยอดขายตกหล่นไปมาก และมีแนวโน้มหล่นลงไปอีก ฉะนั้นสิ่งที่กังวลคือ 7 แสนคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมทั้งหมด ซัพพลายเชนที่ยาวอย่างผู้ผลิตชิ้นส่วน ก็ต้องเร่งทรานส์ฟอร์ม กลุ่มเหล่านี้ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายทรัมป์ 2.0 ยังต้องจับตาดูประเด็นสิ่งแวดล้อม ในขณะที่หลายประเทศกำลังเดินไปในทิศทางของ Climate Change, Net Zero, Decarbonization ที่ทุกประเทศต่างก็มีโร้ดแมปเป้าหมายชัดเจน แต่ทรัมป์ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) แต่คนที่อยู่ข้างกายทรัมป์อย่างอีลอนมัสก์ เป็นเจ้าพ่อวงการพลังงานสะอาด มีแนวคิดมุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนสูงที่สุด เลยเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าเขาจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร
สินค้าจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดอาเซียน กระทบ 30 อุตสาหกรรมไทย
จีนเข้มแข็งด้านการผลิต และส่งออก เมื่อถูกตั้งกำแพงภาษี จึงทำให้สินค้าจากจีนท่วมท้นเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น สินค้าจีนจำนวนมากมีทั้งคุณภาพที่ดี และไม่ได้มาตรฐานปะปนกันมา และราคาถูกมาก หากมากกว่านั้นไทยก็จะแข่งขันไม่ได้ เพราะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในอาเซียน ส่งผลกระทบต่อ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมในไทย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้ เนื่องจากสินค้าไทยแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้
ดังนั้นเวลานี้ มาตรการที่ไทยต้องเตรียมรับมือและวางแผน คือมองหาตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะตอนนี้เราพึ่งพาตลาดในสหรัฐฯ มากเกินไป ต้องดูโมเดลจีนที่ปรับตัวได้ดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เคยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง ด้วยการมองหาตลาดใหม่ ๆ