posttoday

กสทช.เคาะราคาประมูลคลื่นมือถือ 18 เม.ย.นี้ หลังเฮียร์ริ่งรอบ 2

01 เมษายน 2568

คาดสรุปราคาประมูลคลื่นมือถือเสนอบอร์ด 18 เม.ย.นี้ ด้านอดีตกสทช.ฟันธง เอกชนสนใจ 2 คลื่น 2100 กับ 2300 MHz เหตุมีโครงข่ายอยู่แล้ว นักวิชาการหนุนมัดรวมประมูลทุกคลื่น

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2 ว่า จะสรุปความเห็นทั้งหมดและนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดได้วันที่ 18 เม.ย.นี้

ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตบอร์ดกสทช. เปิดเผยว่า สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจำนวน 6 ย่านความถี่ ที่เปิดประมูลจะมีคลื่นที่ค่ายมือถือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จะยื่นประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ส่วนบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จะยื่นประมูลคลื่น 2300 MHz ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ไม่น่ามีผู้ประกอบการรายใดยื่นซองประมูล เพราะทั้งสองค่ายมือถือมีคลื่นความถี่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นประมูล 

ส่วนคลื่น 850 MHz ก็เชื่อว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นประมูลเช่นกัน เพราะย่านดังกล่าวมาตรฐานที่ใช้งานปัจจุบันจะเป็นในระบบ 3G-4G เท่านั้น หากจะพัฒนาเพื่อรองรับความถี่สำหรับอนาคตจะใช้งานสูงมากไม่คุ้มค่าการลงทุน

นักวิชาการระบุ การประมูลรวมทุกคลื่น ทำให้เกิดราคาที่หมาะสม 

นายไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการโทรคมนาคม กล่าวว่า การนำย่านความถี่ 2100 MHz ทั้งผืนมาจัดสรรใน คราวเดียวนั้นช่วยให้เกิดการใช้คลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าประมูลสามารถวางแผนคลื่นได้ล่วงหน้าช่วยเพิ่มมูลค่า และความต้องการในการใช้งานคลื่น ซึ่งจะให้มีความคุ้มค่า ในการประมูลคลื่นมากกว่าการแยกประมูลไม่เต็มผืน  

นอกจากนี้แล้ว กสทช. ควรแยกช่วงความถี่คลื่น 2100 MHz จำนวน 3 Slot ที่หมดอายุปี 2568 และ คลื่น 2100 MHz จำนวน 9 Slot ที่หมดอายุปี 2570 ออกเป็นคนละกลุ่มใน การประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีความต้องการใช้คลื่นและเวลาเริ่มต้นใช้คลื่นแตกต่างกัน 

ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากมีประมูลแยกกัน สำนักงาน กสทช. ก็จะมีต้นทุนและภาระในการจัดประมูลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครั้งโดยไม่จำเป็น การประมูลคลื่นล่วงหน้าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่านตอน ใบอนุญาตเดิมใกล้หมดอายุ 

นอกจากนี้การประมูลไม่พร้อมกันจะทำให้มูลค่าคลื่นลดลง เพราะในการประมูลแต่ละครั้ง สำนักงาน กสทช. ต้องมีการ ตีมูลค่าคลื่นใหม่ตามบริบททางด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันใดว่าหากมีการประมูลในปี 2570 จะมีราคาสุดท้ายที่สูงกว่าประมูลพร้อมกันในปี 2568 

ผู้บริโภคย้ำ เกรงประมูลแพงกระทบค่าบริการ 

นายนราพล ปลายเนตร ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การตั้งราคาคลื่นที่แพงไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริง จะส่งผลต่อค่าบริการที่อาจจะสูงขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำสูงเกินไป การตั้งมูลค่าและราคาคลื่นที่ไม่เหมาะสมสูงหรือต่ำเกินไปจะกระทบโครงสร้างต้นทุนและงบประมาณในการลงทุน ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราค่าบริการและอาจจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในอนาคตได้ 

นายปริวุฒิ บุตรดี ภาคประชาชน อีกท่านระบุว่า สำนักงาน กสทช. ควรจะต้องมีการวางแผนในการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่นอกเหนือจากการประมูลเพียงอย่างเดียว เช่น อาจจะใช้วิธีการ Beauty Contest ที่ประกวดผลตอบแทนให้ภาครัฐทั้งที่เป็น ส่วนของเงินค่าตอบแทน และในส่วนของ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการเข้าถึงโครงข่าย โทรคมนาคมให้กับผู้ด้อยโอกาส และในพื้นที่ห่างไกล

ต้องไม่เอื้อเอกชน ย้ำหลักเกณฑ์การจ่ายเดิม 3 งวด รัฐได้ประโยชน์  

ผศ.ดร.ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ควรเพิ่มเติมเงื่อนไข 10 งวด งวดละ 10% ให้กับรายใหม่ เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเข้ามายื่นประมูลโดยไม่ได้หวังจะนำคลื่นความถี่ไปใช้งานจริง แต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆแอบแฝง ซึ่งในอดีตทาง กสทช. ก็เคยมีบทเรียนในเรื่องนี้มาแล้ว 

นอกจากนี้การผ่อนชำระ 3 งวด ก็ทำให้รัฐได้เงินก้อนแรก 50% เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ โดยหลักของ Cashflow แล้วก็ได้เงินค่าประมูลเร็วกว่า มากกว่า ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศชาติมากกว่า การที่ผู้เข้าประมูลมีความพร้อมในการชำระเงินค่าประมูล ย่อมแสดงถึงสภาพทางการเงินที่ดีของผู้เข้าประมูล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทิ้งใบอนุญาตดังเช่นในอดีต

เชื่อ 3500 MHz หนุนอุตสาหกรรมฯ 

ดร.ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการโทรคมนาคม กล่าวย้ำว่า คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่น 5G Standard ทั่วโลกแต่ไทยยังไม่นำมาใช้งานในกิจการนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังไม่มีการใช้งานคลื่น 3500 MHz สำหรับ 5G หากมีการนำมาใช้จะสามารถยกระดับความเร็วได้ สูงกว่า 2 Gbps ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเครือข่าย 5.5G ได้

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศอื่น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องจาก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ภาคบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมการสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับประชาชนในแขนงต่างๆ เช่น e-commerce เป็นต้น  

วรศิริ ผลเจริญ นักวิชาการ กล่าวว่า การใช้งาน 5G บนคลื่นความถี่ 3500 MHz เพิ่มโอกาสในการประยุกต์ใช้งานนวัตกรรมต่างๆการนำคลื่น 3500 MHz มาประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆในระบบ 5G ของภาคเอกชนนั้นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ที่จะช่วยต่อยอดและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ 

อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้พัฒนา Solution บนอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ทางด้านการแพทย์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านโทรเวชกรรม ทางด้านอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดการพัฒนาเกี่ยวกับ Automated Factory & Mining ทางด้านอุตสาหกรรม Software/Platform ช่วยให้เกิดการประยุกต์ใช้ AR / VR ตลอดจน Automated vehicle และ Logistic ทางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ช่วยต่อยอดเรื่อง Sensor และ Alert system เช่น การตรวจจับความร้อนไฟป่า เป็นต้น 

นายกรวุฒิ อาศนะ นักวิชาการ กล่าวว่า คลื่น 3500MHz มาใช้พัฒนา 5G ได้เป็นอย่างดีและยังมีผู้ให้บริการ 217 รายจาก 262 รายทั่วโลก (มากกว่า 80%) ได้นำคลื่น 3500MHz มาใช้งาน ซึ่งทำให้คลื่น 3500 MHz มีอุปกรณ์ลูกข่ายรองรับมากที่สุดในกลุ่มเทคโนโลยี 5G

ทีวีดิจิทัล หนุนประมูล 3500 MHz เตรียมแผนอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม 

ประเมนทร์ ภักดิ์วาปี อดีตผู้บริหารทีวีดิจิทัล ระบุว่าการใช้งานคลื่น 3500 MHz ร่วมกันระหว่าง 2 อุตสาหกรรม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ TV ที่รับสัญญาณผ่านจาน ดาวเทียม C-Band จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ  ผลกระทบของสัญญาณรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากปี 2568-2572 นั้น  

หากมีการดำเนินการอย่างมีแบบแผน ทั้งในแง่ของการติดตั้งเสาโทรศัพท์และการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนกันอย่างเป็นระบบ เช่น การสำรวจบ้านเรือนโดยรอบสถานีฐาน ว่ามีจำนวนกี่หลังคาเรือนที่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์กรอง สัญญาณหรือ Filter ก็จะสามารถลดข้อกังวลของผู้รับชม TV ซึ่งน่ามีได้รับผลกระทบไม่มาก และเชื่อว่า กสทช. สามารถ กำหนดเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไข วิธีการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนให้กับผู้ชนะการประมูลได้

พีระพัฒ เอกวิทยาสกุล ตัวแทนทีวีดิจิทัล กล่าวว่า คลื่นความถี่ 3500 MHz มีประโยชน์ทั้งด้านทีวีและโทรคมนาคม ซึ่งน่าจะเป็นคลื่นที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจบ้านเราสูงมาก ดังนั้น จะเห็นว่าทั้งสองอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทั้งภาครัฐ หรือ กสทช. และภาคเอกชนทั้งสองอุตสาหกรรม 

ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นำมา ประมูลในช่วงเวลานี้ เพราะหากพ้นช่วงปี 2572 ไปแล้ว อาจจะไม่มีหลักประกันใดๆ ในการแก้ไขปัญหาสัญญาณ รบกวน หรืออาจจะสายเกินไปในการวางแผนใช้งานคลื่นดังกล่าว หรือเรียกว่า “การเตรียมตัวล่วงหน้า”

ทรูยังไม่ใช้คลื่น 3500 MHz

ขณะที่นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะด้านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องรักษาความได้เปรียบนี้ด้วยการมองไปข้างหน้า และเร่งสร้างโอกาสใหม่ๆ

การประมูลครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำด้านดิจิทัลหรือจะล้าหลัง การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงสร้างดิจิทัลของประเทศ ดังนั้น กสทช. จึงควรเร่งให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ตามแผนเดิม

ทรู คอร์ปอเรชั่น สนับสนุนให้ กสทช. จัดการประมูลตามแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) หรือแผน IMT Spectrum Roadmap ที่ กสทช. เห็นชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตั้งแต่ปี 2567

กสทช.เคาะราคาประมูลคลื่นมือถือ 18 เม.ย.นี้ หลังเฮียร์ริ่งรอบ 2 เวทีประชาพิจารณ์ประมูลมือถือรอบ 2 

อันประกอบด้วยคลื่นที่กำลังจะหมดอายุทั้งในปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงคลื่นความถี่ที่ว่าง เพื่อให้เกิดการนำคลื่นไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นว่า กสทช. ควรเร่งให้เกิดการประมูลคลื่นตามแผน IMT Spectrum Roadmap เพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากการจัดสรรคลื่นไม่ทันท่วงที

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังสนับสนุนการประมูลคลื่นในรูปแบบที่นำคลื่นมาประมูลพร้อมกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวโน้มในการจัดสรรคลื่นทั่วโลก นอกจากนี้ในประเด็นการกำหนดราคาขั้นต่ำ ทรู เห็นด้วยกับวิธีการกำหนดราคาที่อ้างอิงหลักการสากล ไม่ใช่การนำราคาตามข้อตกลงระหว่างเอกชนในอดีตที่ไม่ได้สะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว 

ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคลื่น 3500 MHz แม้จะเป็นอีกหนึ่งคลื่นที่มีความสำคัญ แต่ขณะนี้ทรู คอร์ปอเรชั่นยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อีกทั้ง หากนำมาร่วมประมูล กสทช. ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้รับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระบบ C band ก่อนดำเนินการประมูล