posttoday

เอกนัฏลั่นตกคือตก'ซินเคอหยวน'ไม่มีสิทธิ์ขอตรวจคุณภาพเหล็กซ้ำ

03 เมษายน 2568

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ชี้ซินเคอหยวนขอตรวจเหล็กตกมอก.อีกรอบเรื่องไร้สาระ ยันมีนโยบายชัดตกคือตก

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ยืนกรานไม่ยินยอมให้บริษัทดังกล่าวส่งเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ไปให้สถาบันยานยนต์ตรวจสอบซ้ำ โดยระบุว่าเป็นเรื่อง "ไร้สาระ"

"เครื่องมาตรฐานที่มีมาตรฐานบังคับสำหรับเหล็ก ทั้งเหล็กข้ออ้อยและเหล็กเส้น จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ตกก็คือตก แล้วจะตรวจจนกว่าจะผ่านเลยหรือ เป็นไปไม่ได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

นายเอกนัฏ ย้ำว่า "นโยบายเราไม่ยอมอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์ไปขอตรวจใหม่ ผลตรวจออกมาแล้ว แม้จะขอตรวจคู่ขนานเราก็ไม่ยอม ซึ่งสถาบันยานยนต์ก็มีมาตรฐานกำหนด เชื่อว่าแม้ตรวจสอบผลก็จะเหมือนกัน"

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ นายเอกนัฏ ได้สั่งการให้ "ทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม" ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังผลการตรวจสอบเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างจากซากอาคารถล่มของ สตง. พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เนื่องจากบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายโรงงานหลายประการ และยังผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงฯ จึงได้ทำการยึดอายัดเหล็กทั้งหมดจำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 พร้อมทั้งเรียกคืนเหล็กที่ผลิตจากบริษัทฯ ที่อยู่ในท้องตลาดทั้งหมด และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานซินเคอหยวนอีกครั้ง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานและถูกอายัดไว้ กลับมาจำหน่าย

นายเอกนัฏ อธิบายถึงการตรวจสอบที่ผ่านมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด แล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบว่าคุณสมบัติทางเคมี โดยเฉพาะค่าโบรอน ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนการตรวจสอบครั้งที่สองจากกรณีตึก สตง. ถล่ม พบว่าเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร มีมวลน้ำหนักเบากว่ามาตรฐาน และเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มิลลิเมตร ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าการตรวจสอบครั้งแรก

"ยกตัวอย่าง ถ้าผลิต 100 ชิ้น แล้วตกมาตรฐาน 1 ชิ้น ก็ถือว่ามีปัญหา ก็ต้องทิ้งทั้ง 100 ชิ้น การเก็บมา 2 รอบนี้ พบว่ามีเหล็กหลายขนาดที่ตกมาตรฐาน บ่งบอกถึงมาตรฐานกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้มาตรฐานเท่ากัน" นายเอกนัฏ กล่าว

เมื่อถูกถามถึงกรณีเหล็กที่มีเครื่องหมายตัว T นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า ต้องพิจารณาทั้งกระบวนการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเครื่องหมาย T เป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการผลิตแบบใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือคุณภาพของเหล็กที่ต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนด

นอกจากนี้ นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศ รวมถึงจีน ได้มีการห้ามใช้เตาหลอม IF ซึ่งเป็นกรรมวิธีการผลิตเหล็กแบบเก่า โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้ได้สั่งปิดโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 แห่ง และเตรียมที่จะปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง เนื่องจากพบว่ามีการนำอุปกรณ์และเครื่องจักรเก่ามาใช้งาน ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ ต่างจากระบบใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและยกระดับมาตรฐาน

"ผมพูดเสมอว่า ธุรกิจไทยต้องปรับตัวได้แล้ว เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมสำคัญ ทำให้กระบวนการผลิตดีและมีคุณภาพ ซึ่งมีผลต่อการขายด้วย ดังนั้น การแก้ไขใบอนุญาต มอก. ที่จะออกมาก็สำคัญด้วย" นายเอกนัฏ กล่าว