“อมรเทพ” แนะไทยรับแรงกระแทกทรัมป์ขึ้นภาษี ฉุด GDP โตต่ำกว่า 2%
“อมรเทพ” สำนักวิจัย CIMBT ประเมินทรัมป์ขึ้นภาษี ฉุด GDP ไทย โตต่ำกว่า 2% ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ย 30 เม.ย.นี้ แนะเตรียมแผนรับมือผลกระทบ จับตาสวมสิทธิจากจีน-สินค้าจีนทะลักไทย
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT โพสต์เฟซบุ๊ก “อมรเทพ จาวะลา” ระบุว่า เมื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของชาติ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ชาติต่างๆ (นี่แบบลดราคาให้แล้วครึ่งนึง)
พร้อมประกาศว่าเป็น Liberation day หรือวันปลดแอกที่สหรัฐถูกชาติต่างๆ แย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งไป พร้อมจะตอบโต้แบบตาต่อตา คือใครทำอะไรกับสหรัฐ สหรัฐก็จะทำคืน และบอกว่าภาษีที่จัดเก็บได้นี้จะมาลดหนี้ นำมาใช้จ่ายให้คนสหรัฐ ผมมองต่อได้คือ
1. ทรัมป์ตั้งใจลดการพึ่งพิงจีนและชาติที่ไม่ใช่พันธมิตรแท้ๆ ของสหรัฐ อยากย้ายฐานการผลิตกลุ่มชิป เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และรถยนต์กลับมาสหรัฐ โดยการขึ้นภาษีเพื่อให้โรงงานในตปท.ย้ายกลับไปตั้งฐานในสหรัฐ รวมทั้งเตรียมความพร้อมหากเกิดสงคราม เช่นยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ
2. ตั้งใจแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากทรัมป์ไม่ทำอะไร ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐจะแย่ลง ต้องสู้เพื่อให้ประเทศอื่นยอมลดภาษีนำเข้า ข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มีการอุดหนุนสินค้าส่งออกแย่งทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ระบบ VAT เพื่อเอาเปรียบสินค้าจากสหรัฐ การบิดเบือนค่าเงิน และอื่นๆ (ส่วนของ Non tariff barrier มีมากและยากที่จะประเมิน)
3. ทรัมป์ในช่วงนึงหยิบยกรายงานของตัวแทนการค้าสหรัฐ Foreign Trade Barrier ขึ้นมา อ่านรายละเอียดแล้วจะรู้ว่าชาติต่างๆ เก็บภาษีจากสหรัฐอย่างไร เช่น สหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์จากประเทศอื่น 2.4% แต่ไทยเก็บจากสหรัฐ 60% เวียดนามเก็บที่ 75% หรือด้านรถยนต์ที่สหรัฐเก็บจากประเทศอื่น 2.5% แต่ยุโรปเก็บจากสหรัฐ 10% แถมมี VAT อีก 20% และยังบอกว่ามีมาตรการอื่นนอกจากภาษีอีกมาก จนรถในเกาหลีใต้เป็นรถที่ผลิตเอง 81% ญี่ปุ่น 94% แทบไม่มีรถนำเข้า (ผมคุ้นๆว่าในสหรัฐครึ่งต่อครึ่งเป็นรถที่ผลิตเองและรถนำเข้า)
อีกทั้งกลุ่มภาคเกษตรที่ต่างชาติห่วงว่าสินค้านำเข้าจะกระทบเกษตรกร ทรัมป์บอกเขาจะเอาคืนด้วยการเก็บภาษี เพราะบางประเทศเช่นออสเตรเลียไม่ให้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ หรือจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าข้าวสูงมาก
4. ภาษี Universal tariff (ทรัมป์เรียกว่า minimum cheating) จะเก็บที่ 10% ในวันที่ 5 เมษายน ส่วน Reciprocal tariff จะเก็บวันที่ 9 เมษายน (ภาษีจากจีนจะพุ่งไป 54%) ขณะที่ภาษีจากแคนาดาและแมกซิโกจะเลื่อนไปรอดูการตรวจสอบการแก้ปัญหายาเสพติดและผู้อพยพผิดกฎหมาย
5. ทรัมป์วางแผนจะใช้ภาษีนี้ลดหนี้ และกล่าวถึงแผนการจะลดภาษีในประเทศ รวมทั้งการเลื่อนการชำระหนี้ (debt extension) ซึ่งประเด็นหลังนี้จะรอดูความชัดเจนว่าจะเป็นการสลับหนี้สั้นไปหนี้ยาวอย่างที่เป็นข่าวไหม แล้วดอกเบี้ยจะคิดอย่างไรซึ่งอาจกระทบตราสารหนี้
6. แนวทางแก้ปัญหาหลังจากสงครามการค้ารุนแรง- ทรัมป์บอกวิธีแก้ไว้แล้วว่า ให้ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier หยุดบิดเบือนค่าเงิน เร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และมาลงทุนที่สหรัฐ ส่วนประเทศต่างๆ เตรียมรับมือเช่นกัน เช่น ยุโรปกำลังหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจีนจะหามาตรการจำกัดการย้ายฐานไปสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
แล้วไทยจะทำอะไรได้หลังจากนี้ ผมมองว่าน่าจะทำตามที่ทรัมป์เสนอบ้าง อย่างน้อยก็แสดงความจริงใจ และเพิ่มการต่อรอง เร่งให้ข้อมูลว่าตัวภาษีที่ไทยเก็บจากสหรัฐไม่ได้สูงอย่างที่สหรัฐเห็น แต่ต้องเร่งประสานงานว่าเขาใช้อะไรวัด
ขณะเดียวกัน เราต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบด้วย เช่น การสวมสิทธิจากจีน สินค้าจีนทะลักกระทบภาคการผลิตไทย และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแจกเงิน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างงาน สร้างรายได้ หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
คาดว่าหากเจรจายาก และภาษีเกิดจริง กนง. น่าลดอัตราดอกเบี้ยลงรอบ 30 เมษายนนี้ ส่วน GDP ไทยจะกระทบแค่ไหน ผมห่วงว่ามีโอกาสโตต่ำ 2% เป็น downside risk (เราส่งออกสินค้านับเป็น 60% GDP ส่งไปสหรัฐเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด รวมๆ เกิน 10% ของ GDP ไทย ถ้าส่งออกไปสหรัฐติดลบจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็ก้อนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐ ทางอ้อมคือที่ส่งไปประเทศอื่น อย่างจีน เวียดนาม ยุโรปที่จะลำบากมากขึ้นตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง)
ส่วนท่องเที่ยวก็น่ากระทบด้วย เพราะคนขาดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจโตจากปีก่อนที่ 35.5 ล้านคน มาแถวๆ 37-38 แทนที่จะทะลุ 39 ไว้จะรอประเมินกันอีกทีครับ แต่ความชัดเจนน่าเกิดก่อนสงกรานต์นี้