posttoday

เสนอ! ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-เนื้อหมู สหรัฐฯ แก้ปัญหาภาษีทรัมป์

04 เมษายน 2568

สภาอุตฯ เตรียมเสนอรัฐบาล ซื้อข้าวโพด-เนื้อหมูจากสหรัฐแทนประเทศเพื่อนบ้าน แก้มาตรการขึ้นภาษีทรัมป์ ยันต้องหันมาจัดเก็บภาษีบนพื้นฐานความเป็นจริง

นายสุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ ถึงผลการประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวันนี้ (4 เมษายน 2568) ประเด็นมาตรการเสนอรัฐบาล เพื่อนำไปเจรจากับสหรัฐฯ จากประเด็นการขึ้นภาษีของทรัมป์ต่อประเทศไทย ว่า

ในภาพรวมไทยซื้อของสหรัฐอเมริกาน้อย แต่สหรัฐอเมริกาซื้อของเราเยอะ ถ้าคำนวนอัตราภาษีแบบเต็มรูปแบบไม่ลดราคาคือ 72% ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาในปริมาณเยอะมาก

 

สภาอุตสาหกรรมจึงเห็นว่ารัฐบาลต้องไปพูดคุย เจรจาต่อรอง เพื่อลดส่วนต่างตรงนี้ลง

 

จากการประชุมของสภาอุตสาหกรรมในช่วงเช้า 2 ชั่วโมงเต็ม ทางประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ยืนยันว่าวิธีการที่ทางสหรัฐอเมริกาใช้วัดการขึ้นภาษีในครั้งนี้นั้นวัดจากภาพรวมส่วนต่างของการซื้อ-ขายแค่นั้น

“ถ้าใครขายขอให้สหรัฐฯ เยอะ เขาไม่ชอบ ใครซื้อของจากเขาน้อย เขาก็ไม่ชอบ .. จึงต้องเจรจาว่าทำยังไงให้ส่วนต่างตรงนี้น้อยลง”

 

ข้อเสนอสำคัญที่สภาอุตสาหกรรมเตรียมนำเสนอรัฐบาลคือ การเจรจาซื้อผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ในส่วนที่ไทยต้องซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าทางภาคเกษตร เช่น ข้าวโพด สำหรับนำมาเลี้ยงสัตว์

 

เนื่องจากทุกวันนี้ ประเทศไทยซื้อข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ จากการผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอ โดยซื้อจากประเทศ CLM คือ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา และขายเนื้อสัตว์ส่งออก เมื่อซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศ CLM ผลที่ได้ตามมาก็ พื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากเมื่อปลูกแล้วก็ต้องตัดและเผา ซึ่งส่งผลกระทบมายังประเทศไทย จึงมองว่าตรงนี้น่าจะเป็นผลดีให้กับทางรัฐบาลอีกทาง

 

“ การเสนอให้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นข้อแรกๆ ที่คิดว่าจะสามารถเสนอให้กับทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อช่วยอุดหนุนสินค้าของเขา และอุดหนุนเกษตรกรในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์

นายสุรชัยยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มว่า สหรัฐอเมริกาต้องการขายข้าวโพดอยู่แล้วแต่เดิม เนื่องจากเสียตลาดจากจีนไป

 

สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในภาคเกษตรของบ้านเรา ที่ต้องซื้อข้าวโพดจากเดิมที่เคยซื้อราคาถูกจากประเทศในเขต CLM มาซื้อกับสหรัฐอเมริกา นั้นมองว่าเมื่อเปรียบเทียบราคากันแล้วข้าวโพดจากประเทศในเขต CLM ถูกกว่าสหรัฐฯเพียงเล็กน้อย  เพราะเนื่องจากเทคโนโลยีการปลูกของสหรัฐฯมีความก้าวหน้ากว่ามาก จึงทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและทำราคาขายได้ดี แม้กระทั่งข้าวสาร ซึ่งทำให้ต้นทุนไม่แพง

“ ณ วันนี้ เราจำเป็นต้องเลือกสินค้าที่ทำให้เราเสียหายน้อยที่สุด” นายสุรชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่จะเสนอให้รัฐบาลซื้อจากสหรัฐฯ นั้นจะเป็น ข้าวโพดสาลี ซึ่งอยู่ในหมวดอาหารสัตว์ และเนื้อหมูกับเครื่องในหมู เนื่องจากสหรัฐฯต้องการขายเนื้อหมูให้กับประเทศไทยนานมากแล้ว  แต่ประเทศไทยไม่ซื้อ เนื่องจากติดปัญหาด้านเทคนิคของกฎเกณฑ์ ซึ่งไปตรวจพบว่าสหรัฐฯใช้สารเคมีบางอย่างที่ไม่ยอมรับตั้งแต่ 20 ปีก่อน ซึ่งควรที่จะให้กรมฯ ที่ดูแลไปจัดการมาตรการดังกล่าว

“ไปยกออกเถอะ เพราะมันโบราณและไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน”  นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเนื้อโค ที่มีการเก็บภาษีสูงเพื่อปกป้องเกษตรกร อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องมาพิจารณา  นายสุรชัยกล่าวว่า การเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมูและเนื้อโคที่สูงในบ้านเรา ยังทำให้เกิดการนำเข้าเนื้อผิดกฎหมายที่มาพร้อมตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยเป็นข่าวอีกด้วย

 

หันกลับมาตั้งหลักบนพื้นฐานความเป็นจริง

นายสุรชัย กล่าวว่า ณ วันนี้ สิ่งที่พูดกันคิดว่าจำเป็นต้องซื้อจากสหรัฐฯ อย่าไปตั้งกฎเกณฑ์ให้เป็นปัญหา ในขณะเดียวกันก็จะดูว่าอะไรที่ประเทศไทยไปตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯไว้สูง เพื่อเอาไว้เตรียมเจรจาต่อรองในกรณีที่เขาขอ FTA  ก็ต้องดูว่าไม่ต้องรอมาเจรจาแล้ว ให้แลกหรือลดไปเลย เช่นภาษีบางตัวมีการตั้งอัตราสูงถึง 60-70% เพื่อให้ประเทศเราสามารถแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมกับประเทศอื่นได้ ซึ่งก็ถูกมองได้ว่าไปเก็บเขาไว้มาก เมื่อถามว่าภาษีที่เป็นธรรมควรคิดที่เท่าไหร่ นายสุรชัยตอบว่าควรอยู่ที่ไม่เกิน 20%

 

“ วันนี้ในการประชุมเรามายืนบนความเป็นจริง สหรัฐฯ ต้องการหาเงิน เขาติดหนี้เยอะ เขาไปต่อในภาพนี้ไม่ได้แล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องมาไล่เก็บ ใครจะขายของกับเขาก็ต้องจ่ายภาษี”

 

ไม่กระทบกับผลิตภัณฑ์ยา

ในฐานะประธานอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  มองว่าสำหรับผลิตภัณฑ์ยาเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่ไม่โดนผลกระทบจากเหตุผล ข้อหนึ่ง คือไทยส่งออกยาไปสหรัฐอเมริกาน้อยมาก และข้อที่ 2 คือผลิตภัณฑ์ยาเป็น 1 ใน 6 สิ่งที่ได้รับการยกเว้นไม่เข้าเกณฑ์ภาษีตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariff ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์ และต่อให้สหรัฐอเมริกาจะอยากให้ไทยซื้อยาจากประเทศตน ก็อาจจะยาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบสุขภาพที่จ่ายโดยภาครัฐ และพยายามจะสร้างนโยบายด้านนั้น

นายสุรชัยให้ความเห็นว่า “การไปซื้อยาอเมริกามาแจกเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”  เนื่องจาก ‘ยา’ มีราคาสูง  จึงไม่น่าจะเป็นคำตอบที่จะนำไปเจรจาได้

สำหรับมูลค่าการส่งออกยาของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน พบว่าอัตราภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐฯ อยู่ที่ 5-10% ในขณะที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากสินค้าไทยที่ 0-5%

" ฉะนั้นจึงตอบคำถามว่า การเจรจาไม่น่าจะเป็นในเรื่องของยา เพราะมีการเก็บภาษีที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับสินค้าทางด้านการเกษตรซึ่งเก็บภาษีสหรัฐฯ สูงมาก" นายสุรชัยทิ้งท้าย.

Thailand Web Stat