posttoday

รีวิว : ภาพถ่ายใสกิ๊ง แคนนอน 60D

07 กุมภาพันธ์ 2554

กล้องตัวนี้มีดีกว่ารุ่นเดิมอย่างไร เมื่อเทียบกับ 550D และ 50D รุ่นก่อนหน้านี้ ภาพสวยกว่าไหม บอดีเป็นอย่างไร จะทนกว่าดีกว่าหรือเปล่า คุ้มหรือไม่ที่จะเปลี่ยน...มาดูกัน!!!

กล้องตัวนี้มีดีกว่ารุ่นเดิมอย่างไร เมื่อเทียบกับ 550D และ 50D รุ่นก่อนหน้านี้ ภาพสวยกว่าไหม บอดีเป็นอย่างไร จะทนกว่าดีกว่าหรือเปล่า คุ้มหรือไม่ที่จะเปลี่ยน...มาดูกัน!!!

เรื่อง โยโมทาโร่

การมาของกล้อง 60D จากแคนนอนที่เข้าไทยไม่นานมานี้ เป็นการเปิดตัวกล้องที่เรียกได้ว่าสร้างกระแสคำถามให้กับคนเล่นกล้องหลายต่อหลายคำถามว่า กล้องตัวนี้มีดีกว่ารุ่นเดิมอย่างไร เมื่อเทียบกับ 550D และ 50D รุ่นก่อนหน้านี้ ภาพสวยกว่าไหม บอดีเป็นอย่างไร จะทนกว่าดีกว่าหรือเปล่า คุ้มหรือไม่ที่จะเปลี่ยน

การออกแบบ ความสามารถรวมทั้งลูกเล่นการปรับแต่งค่าต่างๆ มากมายที่ 60D จัดให้นั้น ดูเหมือนว่าแคนนอนเองพยายามทำให้กล้องตัวนี้ให้เป็นมิตรกับนักถ่ายภาพในระดับกึ่งโปรมากขึ้น กล่าวคือเป็นระดับนักถ่ายภาพที่ชอบการถ่ายภาพเวลาท่องเที่ยวส่วนตัว มีความรู้และฝืมือในการถ่ายในอีกระดับ และต้องการฟิลลิงการจับถือที่ให้ความมั่นใจเวลาใช้งาน ที่สำคัญก็คือ ราคาที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ที่มีความต้องการกล้องในระดับกึ่งโปร

ดังนั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในตัว 60D เมื่อเทียบกับ 50D ก็คือ บอดีภายนอกเปลี่ยนจากแมกนีเซียมอัลลอยเป็นพลาสติก โพลีคาร์บอเนต ที่มีความเหนียว แข็งแรง ทนความร้อนและสารเคมีได้ดี โดยโครงสร้างยังเป็นเหล็กอยู่ ส่งผลให้ตัวกล้องมีน้ำหนักเบาขึ้นเล็กน้อย แต่ยังให้ความรู้ถึงน้ำหนักและความแน่นกระชับถนัดมือมากกว่า 550D ที่จริงแล้วหากไม่ซีเรียสว่าตัวบอดีต้องเป็นแมกนีเซียมเท่านั้นถึงจะดูโปร 60D ก็ให้ความรู้สึกมั่นใจเวลาใช้งานได้ไม่ต่างกัน

รีวิว : ภาพถ่ายใสกิ๊ง แคนนอน 60D

ปุ่มปรับใช้งานมีการโยกย้าย ปุ่มเปิดปิดไปอยู่กับแป้นปรับโหมดแมนนวลและออโต จอยโยกปรับเลือกตั้งค่ามารวมเป็นแป้นกลมผนวกอยู่กับวงล้อมหัศจรรย์ ปุ่มไดเรกแอกเซสที่เข้าถึงการปรับตั้งพิกเจอร์สไตล์ และปุ่มปรับไวต์บาลานซ์หายไป สร้างความขัดเคืองใจให้กับบรรดามือโปรไม่น้อย ที่ต้องเข้าไปตั้งค่าในหน้าจอเมนูแทน แต่อันที่จริงแล้วถ้ามองในเรื่องกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านราคาและการออกแบบก็ตอบโจทย์ได้ในระดับหนึ่ง

เพราะอย่างการทดสอบเราเองในการออกทริปเที่ยว หรือแม้แต่ในการทำงานข่าวเองก็ตาม แทบจะนับครั้งได้เลยว่ากล้องตัวนี้ต้องเข้าไปปรับไวต์บาลานซ์เองก่อนถ่ายภาพกี่ครั้ง สุดท้ายก็กลับไปใช้ออโตที่ให้แสงสีตรงกับสภาพแสงจริงมากกว่า ซึ่งกล้องรุ่นใหม่ๆ อย่าง 60D นี้ ระบบออโต้ไวต์บาลานซ์ทำออกมาได้ดีมาก

ส่วนพิกเจอร์สไตล์ ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นอยู่บ้างสำหรับช่างภาพหลายๆ คน ที่ต้องการสีสันบนภาพถ่ายในสไตล์ที่แต่ละคนชอบ แล้วมาปรับแต่งให้น้อยที่สุดภายหลัง

มาถึงจุดเด่นเฉพาะของกล้องรุ่นนี้กันบ้างก็คือ หน้าจอหมุนพับได้ เราได้ใช้งานบ้างบางเวลา ในจุดข้อต่อต่างๆ ดูแน่นหนาแข็งแรงไว้ใจได้ เวลาที่ไม่ได้ใช้ก็พับเก็บเอาหน้าจอแสดงผลเข้าไว้ข้างใน ซึ่งหน้าจอของ 60D ให้ความสว่างสดใสคมชัดดี แม้อยู่ใต้แสงแดดจัดๆ ก็ยังพอมองเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดเจนอยู่

เพียงแต่ว่าภาพที่เห็นจากจอหลังกล้องและคอมพ์อาจมีผิดเพี้ยนไปบ้างเป็นเรื่องปกติ หากต้องการภาพที่สดใสเหมือนภาพที่เห็นหลังกล้อง ก็เพียงปรับคอนทราสต์ในคอมพ์ไม่กี่คลิกเท่านั้น ก็ได้ภาพสีสันสวยสมใจแล้ว

การโฟกัสของกล้องทำได้ค่อนข้างแม่นยำและรวดเร็วมาก เราทดลองกับเลนส์ 18-200 mm. เป็นเลนส์คิตในกล้องของแคนนอน ที่มีให้เลือกหลายช่วง ก็สามารถโฟกัสได้เข้าเป้าแม่นยำไม่มีหลุดหรือวืดวาด สามารถเล็งวัตถุในตำแหน่งต่างๆ ของภาพได้อย่างแม่นยำ ไม่มีหลุดแม้เพียงภาพเดียว เว้นแต่อยู่ในสถานที่ที่มีแสงน้อย และมีหลายวัตถุในฉากมากเกินไปเท่านั้น

รีวิว : ภาพถ่ายใสกิ๊ง แคนนอน 60D

สุดท้ายในเรื่องของแบตเตอรี่ต้องบอกว่ากล้องตัวนี้มีระบบการจัดการพลังงานได้ดีเยี่ยม เราเปิดปุ่มออนไว้เกือบตลอดวัน ตั้งค่าความละเอียดแบบ Jpeg ไว้ที่ 18 ล้านพิกเซล ไม่ใช้แฟลชภายใน กับเมมโมรีการ์ดขนาด 8 GB ภูมิอากาศตอนถายนั้นอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 10-14 องศา ถ่ายภาพแบบเน้นปริมาณไป 1,200 ภาพในหนึ่งวัน แบตเตอรี่ลดลงเพียงขีดเดียวจากทั้งหมด 4 ขีด แต่หากดูจากข้อมูลรายละเอียดแบตเตอรี่ในโปรแกรมของกล้องแล้ว จะพบว่าแบตเตอรี่จะเหลืออยู่ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้ต่อจนแบตเตอรี่แสดงผลเหลือ 2 ขีด จะอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ถ้าถ่ายภาพจนแบตเตอรี่หมด น่าจะถ่ายได้ประมาณ 2,000 ภาพ หรือน้อยกว่านี้หากคุณใช้การบันทึกแบบ Raw ไฟล์

เมื่อนำไฟล์ภาพที่ออกมาดูบนหน้าจอนั้นจัดว่าคมชัดให้สีสันดูเป็นธรรมชาติ Noise ในภาพที่ ISO สูงในระดับ 3200 นั้นมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่โปรแกรมในกล้องยังสามารถเก็บรายละเอียดพื้นผิวได้ดี ในระดับที่สามารถนำไปใช้งานอัดภาพมาอวดเพื่อนๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่ถ้าต้องการความมั่นใจที่สุดว่าจะใช้ได้ทั้งสีและผิววัตถุแล้วตั้ง ISO1600 รับรองผลความสบายใจ ส่วน ISO สูงสุดที่เป็นมาตรฐานกล้องตัวนี้จะอยู่ที่ 6400 และบู๊ตได้ที่ 12800 ซึ่งอันที่จริงแล้วก็สามารถใช้งานได้เหมือนกัน แต่รายละเอียดวัตถุและสีสันจะตกลงไปมาก เก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เราต้องการได้ภาพเหตุการณ์จริงๆ

60D จึงเป็นกล้องที่สามารถใช้งานเพื่อการท่องเที่ยว หรือใช้ในการทำงานของช่างภาพอาชีพได้เป็นอย่างดี ด้วยราคาและความสามารถในระดับสูงที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ทุนน้อยแต่มากฝีมือ แต่หากติดขัดแค่ตัวบอดีพลาสติกกับแมกนีเชียม ลองเปิดใจให้กว้าง ความสำคัญของการถ่ายภาพไม่ได้อยู่ที่กล้อง แต่อยู่ที่คนหลังกล้องต่างหาก แล้วคุณจะพบว่า 60D ตอบสนองการใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

ความละเอียดภาพ  18 ล้านพิกเซล APS-C CMOS เซ็นเซอร์
ชิปประมวลผม   DIGIC 4
ความไวแสงเซ็นเซอร์  ISO 100-6400, H:12800
ถ่ายภาพต่อเนื่อง  5.3 เฟรมต่อวินาที
รองรับหน่วยความจำ  SD การ์ดเท่านั้น
บันทึกวิดีโอสูงสุดที่ความละเอียด  1080P
ระบบออโตโฟกัส 9 จุด แบบ cross type AF System
ระบบวัดแสง iFCL metering with 63-zone Dual-layer Sensor
 

รีวิว : ภาพถ่ายใสกิ๊ง แคนนอน 60D