จี้สถาปนิกไทยแก้10จุดตายรับเออีซี
ชี้ 10 จุดตายสถาปนิกไทยต้องเร่งปรับตัว รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558
ชี้ 10 จุดตายสถาปนิกไทยต้องเร่งปรับตัว รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558
นายรัชด ชมภูนิช คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาชีพสถาปนิกไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น หลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 (เออีซี) ซึ่งจะทำให้สถาปนิกต่างชาติเข้ามาแข่งขันเพื่อรับงานออกแบบได้อย่างเสรี รวมไปถึงเป็นโอกาสของสถาปนิกไทยที่จะออกไปรับงานในต่างประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถาปนิกไทยยังมีปัญหาซึ่งเกิดจาก 2 ส่วนหลัก เริ่มตั้งแต่การผลิตบุคลากรทางด้านสถาปนิก และปัญหามาจากตัวสถาปนิกเองที่ยังขาดความรู้ โดยสามารถระบุเป็น 10 จุดตายของสถาปนิกไทย
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.การคิดราคาก่อสร้างที่ประมาณราคาค่าก่อสร้างโดยเอาตารางเมตรคูณพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ไม่ถูกต้อง และเป็นต้นเหตุของความไม่น่าเชื่อถือ
2.สถาปนิกไทยไม่สนใจข้อมูลกฎหมายเนื่องจากมีความเชื่อว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงาน จึงทำให้การออกแบบอาคารบ้านเรือนอยู่บนพื้นฐานของการหลบหลีกกฎหมาย
3.สถาปนิกไทยไม่เข้าใจในเอกสารประกอบแบบ 4.ขาดการทำโปรแกรมการใช้สอยอาคาร 5.ขาดจัดทำเอกสารประกอบงาน 6.ขาดภาวะผู้นำ 7.ขาดความรู้ด้านกระบวนงานก่อสร้าง 8.มีความรู้ภาษาอังกฤษน้อย 9.ทำงานไม่จบและใช้เวลานาน 10.ค่าออกแบบงานต่ำที่สุดในโลก
ด้านนายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติเข้ามารับงานทางด้านสถาปนิกในเมืองไทยหลายแห่ง แต่ไม่ยอมเปิดเผยถึงที่มาของบริษัทเนื่องจากวิชาชีพสถาปนิกนั้นยังถือเป็นอาชีพสงวนสำหรับผู้ประกอบอาชีพคนไทย
ปัจจุบันสถาปนิกไทยมีอยู่ในประเทศ 1.6 หมื่นคน แต่ที่ปฏิบัติงานจริงมีอยู่ 6,000 คน ที่ขับเคลื่อนวงการออกแบบ ซึ่งจะผูกอยู่กับวิศวกรที่มีอยู่ 2 แสนคน
สำหรับงานออกแบบก่อสร้างนั้นได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ใช้มือในการออกแบบ ได้พัฒนาไปสู่การใช้โปรแกรม ออโตแคด และปัจจุบันการออกแบบพัฒนาไปสู่การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อย่างเช่น การออกแบบรูปแบบ 3 มิติ ที่ช่วยประหยัดต้นทุนด้านการก่อสร้าง และสามารถปรับเปลี่ยนแบบได้รวดเร็ว เป็นต้น