posttoday

กฟผ.อินเตอร์ฯเพิ่มทุน7พันล้าน

06 มิถุนายน 2554

คลังอนุมัติ กฟผ.อินเตอร์ฯ เพิ่มทุน 7,000 ล้านบาท เพิ่มความคล่องตัว รองรับแผนลงทุนนอก

คลังอนุมัติ กฟผ.อินเตอร์ฯ เพิ่มทุน 7,000 ล้านบาท เพิ่มความคล่องตัว รองรับแผนลงทุนนอก

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.จำนวน 7,000 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการลงทุนร่วมทุนโครงการด้านพลังงานในต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และลาว

กฟผ.อินเตอร์ฯเพิ่มทุน7พันล้าน

การเพิ่มทุนครั้งนี้ จะช่วยให้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งตามระเบียบของบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจนั้น การจะไปลงทุนในโครงการใด จะต้องนำเรื่องเสนอขออนุมัติงบลงทุนกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกครั้ง แต่ในด้านของการเจรจาธุรกิจไม่ควรจะใช้เวลาในเรื่องดังกล่าวมากเกินไป

ดังนั้น กฟผ.จึงใช้วิธีการเพิ่มทุนเพื่อใช้เป็นสภาพคล่อง สำหรับนำไปลงทุนโครงการต่างๆ ได้ทันที และนำมารายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ

สำหรับการลงทุนธุรกิจพลังงานของ กฟผ.อินเตอร์ฯ นั้น จะเน้นในกลุ่มประเทศเอเชียเป็นหลัก เนื่องจากใกล้ประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการประเภทเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งได้

“ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ต่างชาติรู้จัก กฟผ.พอสมควร ในฐานะที่เป็นผู้จัดหาไฟฟ้าให้กับไทย ทำให้การเข้าไปหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการต่างประเทศของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะ ในแถบเอเชีย” นายสุทัศน์ กล่าว

ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีของประเทศภูฏานที่ กฟผ. ให้ความสนใจเนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ สามารถผลิตได้เป็นหมื่นเมกะวัตต์ แต่ด้วยภูมิประเทศที่ไม่ใหญ่มากนักหากผลิตไฟฟ้าออกมาก็จะส่งขายไปประเทศอินเดีย

ล่าสุด ได้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับรัฐบาลภูฏาน และ กฟผ.เคยมีการลงนามความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานไว้ด้วย โดยภูฏานได้ส่งคนมาอบรมกับทาง กฟผ. เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์ด้านนี้

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบให้ กฟผ.ลงนามในข้อตกเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเงี๊ยบ กำลังการผลิต 389 เมกะวัตต์ สัญญา 27 ปี ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.312 บาท/หน่วย ซึ่งจะเข้าระบบใน พ.ศ. 2561 วงเงินลงทุน 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท คันไซ อิเลคทริคส์ 45% บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล 30% และการไฟฟ้าลาว 25%