posttoday

BNY Mellon คาดปีนี้ลงทุนร้อนแรง แต่ตลาดหุ้นยังเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย

04 กุมภาพันธ์ 2566

BNY Mellon (บีเอ็นวาย เมลลอน) มองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนสำหรับปี 2566 ว่า การลงทุนจะกลับมาร้อนแรงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นแม้ดีขึ้นแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย แนะตลาดตราสารหนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าตราสารทุนในระยะสั้น

อนินดา มิตรา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคภูมิภาคเอเชียและกลยุทธ์การลงทุน (Head of Asia Macro and Investment Strategy) BNY Mellon เปิดเผยว่า สถานการณ์การลงทุนในปี 2566 พบว่า นักลงทุนคาดว่าปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2565 จะจบลง อย่างไรก็ดียังคงแนะนำให้เตรียมพร้อมรับกับความกดดันที่ยังคงมีอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

นอกจากนี้ พบว่านักลงทุนยังมีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนภายในปีนี้เมื่อสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น โดย ตลาดหุ้นจะยังคงเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และมีโอกาสที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์บางกลุ่มอาจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จากวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น รวมถึงนโยบายทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าตราสารทุนในระยะสั้น เนื่องจากความสามารถในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่อัตราการเติบโตช้า ในทางตรงกันข้าม ตราสารทุนก็อาจทำผลงานได้ดีกว่ามากหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วพอภายหลังในปี 2566

 

ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนปี 2566

 

  • ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันในระยะสั้น ท่ามกลางอุปสรรคและนโยบายการเงินแบบรัดกุม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นภายในกลางปี 2566 ทำให้นักลงทุนควรพิจารณาแนวทางการจัดสรรสินทรัพย์ที่สมดุล โดยให้เน้นให้น้ำหนักกับตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน
  • ความเสี่ยงต่อตราสารทุนยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) จะสร้างผลตอบแทนคาดหวังปรับด้วยความเสี่ยงได้ดีกว่าตราสารทุน ในสภาวการณ์ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวช้าลงและความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงอยู่ในระดับสูง

 

ด้านการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาคนั้น บีเอ็นวาย เมลลอน มีมุมมองว่า นักลงทุนไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ยังคงต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อซึ่งกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ โดยปัญหาหลักยังคงอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐอเมริกาอาจผ่านพ้นจุดสูงที่สุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับที่ธนาคารกลางหรือ เฟด หวังไว้ เช่นกัน

 

โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งระดับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังคงสูงกว่ากลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ แม้ว่าแรงกดดันด้านอุปทานได้ผ่อนคลายลงบ้างแล้ว และมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในการเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในทางกลับกัน จุดสนใจใหม่ย้ายมาอยู่ที่แรงกดดันจากอุปสงค์ ซึ่งสถานการณ์ยังคงไม่ได้เป็นบวกอย่างเต็มที่

 

อนินดา มิตรา ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า แรงกดดันด้านราคาค่าจ้าง ต้นทุนการจ้างงาน และแรงกดดันด้านราคาหลักยังคงสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 5% – 6% ซึ่งยังไม่ลงมาใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ 2% ในเร็วๆ นี้

 

สำหรับความท้าทายและข้อควรพิจารณาในปี 2566 นั้น ในส่วนการรับมือโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ บีเอ็นวาย เมลลอน ไอเอ็ม เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปอยู่ที่อย่างน้อย 5% ตลาดตราสารหนี้ยังคงสะท้อนความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนแบบ Inverted Yield Curve

 

ส่วนปัจจัยวิกฤตพลังงานในยุโรป ให้ความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีแนวโน้มที่จะเกิดสูงมากขึ้น จากความต้องการพลังงานที่ลดลงและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น แต่คำถามที่สำคัญก็คือนโยบายพลังงานและการดำเนินนโยบายทางการคลังจากสหภาพยุโรปจะสามารถป้องกันไม่ให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ต่อไปได้หรือไม่

 

ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอตัว มองว่าการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน การเปลี่ยนแปลงนโยบาย Zero-Covid ที่ประสบปัญหาภาคสังคมจะสร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก