สำรวจเส้นทาง ‘รถไฟความเร็วสูง’ สายเหนือ รอรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อน
“กรมการขนส่งทางราง” กางแผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ ช่วงกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ยืนยันคุ้มค่าลงทุนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง 17.3% หลังได้เจรจาร่วมกับญี่ปุ่น รอลุ้นเสนอให้ ครม.ชุดใหม่อนุมัติ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือด้านคมนาคมไทยและญี่ปุ่นว่า ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation : MOC) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาผู้แทนทั้งสองประเทศได้หารือความคืบหน้าผลการศึกษาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉบับสมบูรณ์ ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม พบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก มีความคุ้มค่าทางการลงทุน โดยมีผลการศึกษาชี้ชัด อาทิ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 12 ตลอดจนมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ
รวมถึง จากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การลงทุนโครงการเกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในเบื้องต้นจากการหารือระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ตกลงร่วมกัน ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ระยะแรก ในเส้นทางกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้กรมการขนส่งทางรางจะนำเสนอผลการศึกษาทั้งหมดให้กับรัฐบาล เพื่อผลักดันการดำเนินการ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และแน่นอนว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศไทย
ทั้งนี้ แผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงของกระทรวงคมนาคม กำหนดไว้ว่าขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม 6 โครงการ ระยะทางรวม 1,993 กิโลเมตร แบ่งเป็น
1.เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก
ระยะทาง 380 กิโลเมตร
วงเงินลงทุนประมาณ 2.12 แสนล้านบาท
สถานะปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน
2.เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย
ระยะทาง 355 กิโลเมตร
วงเงินลงทุนประมาณ 2.26 แสนล้านบาท
สถานะปัจจุบัน ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA
3. เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน
ระยะทาง 211 กิโลเมตร
วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท
สถานะปัจจุบัน เตรียมของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนผลการศึกษาเดิม
4.เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่
ระยะทาง 288 กิโลเมตร
วงเงินลงทุนประมาณ 2.32 แสนล้านบาท
สถานะปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน
5.เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี
ระยะทาง 424 กิโลเมตร
สถานะปัจจุบัน ของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสม
6.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์
ระยะทาง 335 กิโลเมตร
สถานะปัจจุบัน ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว