posttoday

กาง จ.ม.เปิดผนึกจาก ผู้ว่า ธปท. ถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อไทยสูงหลุดกรอบ

19 เมษายน 2566

กางจดหมายเปิดผนึก จาก ผู้ว่า ธปท. ในฐานะประธาน กนง. ส่งถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อพุ่งหลุดกรอบเป้าหมาย พร้อมเผยสาเหตุ และแนวโน้มเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

โดยภายในจดหมมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2566 รวมถึงระบุให้กนง.มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.83% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) อยู่ที่ 5.86% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี จากการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2566 กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567) จะอยู่ที่ 2.6% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น กนง.จึงขอเรียนชี้แจงถึง 1.ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน 2.ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3.การดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายจากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost-push inflation) เป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงที่ 20.06%

ขณะเดียวกัน ราคาอาหารสดได้ปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่มีราคาสูงขึ้นตามอุปทานที่ลดลงมากจากเกิดโรคระบาดในช่วงต้นปี 2565 และราคาผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยที่อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 7.74%

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้ออุปสงค์ (demand-pull inflation) ปรับเพิ่มขึ้นบ้างตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆทำได้มากขึ้น แม้จะยังไม่สามารถส่งผ่านได้เต็มที่ โดยเป็นการส่งผ่านไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.70%

กาง จ.ม.เปิดผนึกจาก ผู้ว่า ธปท. ถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อไทยสูงหลุดกรอบ

 

ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2566 กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยได้ทยอยลดลงต่อเนื่องตามที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงตาม 1.ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง ประกอบดับฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อนหน้า และ 2.ราคาอาหารสดที่คาดว่าจะปรับลดลงตามต้นทุนอาหารสัตว์และราคาปุ๋ยที่ลดลงจากปัญหาด้านอุปทานที่มีแนวโน้มคลี่คลาย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งตามการทยอยส่งผ่านต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้าที่อาจทำได้มากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป ก่อนทยอยปรับลดลงจากแนวโน้มต้นทุนที่ลดลง ทั้งนี้ การทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แสดงถึงความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้

อย่างไรก็ดี กนง.จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น 1.แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเอื้อให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนได้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น และ 2.การทยอยลดมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่รับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานในประเทศปรับลดลงช้ากว่าราคาพลังงานในตลาดโลก ทั้งนี้ กนง.จะติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสมและทันการณ์

การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ประเมินว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีความเหมาะสมในบริบทปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามโดยเฉพาะจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยกนง.พร้อมปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินและไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างเหมาะสม

ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างกนง.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า หาก ณ เวลานั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ายังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย

กาง จ.ม.เปิดผนึกจาก ผู้ว่า ธปท. ถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อไทยสูงหลุดกรอบ กาง จ.ม.เปิดผนึกจาก ผู้ว่า ธปท. ถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อไทยสูงหลุดกรอบ กาง จ.ม.เปิดผนึกจาก ผู้ว่า ธปท. ถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อไทยสูงหลุดกรอบ