ธปท. อัปเดตมาตรการพร้อมเผยตัวเลขเสียหายจากแอปดูดเงิน 7 เดือนกว่าพันล้าน
ธปท. อัปเดตมาตรการป้องกันภัยทุจริตการเงินเป็นไปตามแผนใกล้จบแล้วทั้งหมด พร้อมเผยตัวเลขเสียหายจากแอปดูดเงิน 7 เดือนกว่าพันล้าน
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน (สง.) ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น ธปท. ได้ติดตามให้ สง. ทุกแห่งดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผน
สำหรับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. ในส่วนป้องกันความเสี่ยง และปิดช่องโหว่ภัยทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน เพื่อปิดโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนผ่านหลายช่องทาง และหลายรูปแบบนั้นได้คืบหน้าแล้ว 4 มาตรการ
ได้แก่ 1) ธนาคารงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสาคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนชน ผ่านโซเชียลมีเดีย 2) ปิดกั้น SMS และเบอร์ call center ที่แอบอ้างเป็นธนาคาร ปิด website หลอกลวง ร่วมกับกสทช. สกมช กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ TB-CERT 3) จำกัด 1 บัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละธนาคารให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น 4) ธนาคารต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้ทันสมัย เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่เสมอ
ส่วนอีก 2 มาตรการ คือ กำหนดให้ธนาคารแจ้งเตือนบน mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และให้ผู้ใช้งานประเมินการตระหนักรู้ต่อภัยทุจริต (awareness test) เป็นระยะ ได้คืบหน้าแล้ว 70% และ กำหนดเพดานวงเงินถอน/ โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสม ตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท (ลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด) เสร็จแล้ว 80%
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ธนาคารต้องให้ยืนยันตัวตนขั้นต่าด้วย biometrics เมื่อเปิดบัญชีแบบ non face to face / เปลี่ยนวงเงิน /โอนเงินจำนวนมากนั้น ในส่วนกรณีเปิดบัญชีดำเนินการเสร็จแล้ว แต่กรณีอื่น ๆ คืบหน้าไป 75%
สำหรับ ฝั่งมาตรการตรวจจับ ติดตามบัญชีและธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อปิดช่องโหว่ กรณีพบบัญชีผิดปกติแล้วสถาบันการเงินไม่สามารถอายัดได้ทันที และยังมีการซื้อขายบัญชีม้าอยู่มากนั้น สำหรับความคืบหน้าล่าสุดที่เสร็จเรียบร้อยแล้วคือการกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับ ติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด และรายงานไปยัง ปปง. และจัดให้มีช่องทางแจ้งความออนไลน์ ร่วมกับ สตช. สมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
ส่วนมาตรการที่ธนาคารต้องมีระบบตรวจจับ ติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ แบบ near real time เพื่อระงับธุรกรรมเมื่อตรวจพบได้เร็วขึ้นเสร็จแล้ว 25% ซึ่งคาดว่าจะจบภายในเดือนธันวาคม 2566
ด้านมาตรการตอบสนองและรับมือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหา กรณีที่ยังทำได้ล่าช้า ทั้งแจ้งความและแจ้งสถาบันการเงินเพื่ออายัดบัญชีนั้นดำเนินการเสร็จแล้วทั้งหมด ได้แก่
1) ธนาคารมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้แจ้งเหตุได้โดยเร็ว 2) ธนาคารให้ข้อมูลสนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตารวจ เพื่อติดตามหาสาเหตุและผู้กระทาผิด และกำหนดผู้รับผิดชอบในการดูแลและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ 3) ธนาคารต้องดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของธนาคาร และ 4) ธปท. มีศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน Call Center 1213 เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังระบุเพิ่มเติมว่าในช่วง 7 เดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึง เดือนมิถุนายน 2566 มีตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากกรณีแอปดูดเงินรวมแล้วกว่า 1 พันล้านบาท ดังนี้
เดือน ธ.ค. 65 | 182 | ล้านบาท |
เดือน ม.ค. 66 | 185 | ล้านบาท |
เดือน ก.พ. 66 | 161 | ล้านบาท |
เดือน มี.ค. 66 | 135 | ล้านบาท |
เดือน เม.ย. 66 | 116 | ล้านบาท |
เดือน พ.ค. 66 | 200 | ล้านบาท |
เดือน มิ.ย. 66 | 173 | ล้านบาท |
รวม | 1152 | ล้านบาท |
นอกจากนี้ เพื่อให้การจัดการภัยทางการเงินมีประสิทธิผลและเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ธปท. จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน กสทช. และสมาคมธนาคารไทย
โดยผลักดันการดำเนินการให้สอดคล้องตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งภาคธนาคารได้ยกระดับให้ สง. มีกระบวนการรับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง และระงับธุรกรรมชั่วคราวไว้ 72 ชั่วโมง เพื่อช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน
รวมทั้งมีกระบวนการและพัฒนาระบบกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมที่ต้องสงสัยระหว่าง สง. ด้วยกัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชน และช่วยจัดการบัญชีม้า อย่างไรก็ดี กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันยังคงร่วมกันเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดการปัญหาทำได้เร็วยิ่งขึ้น
สำหรับมาตรการจัดการภัยทางการเงินของไทยดังกล่าว มีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและการดำเนินการของ สง. ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยในบางมาตรการของไทยมีการกำหนดเพิ่มเติม เช่น การจำกัด mobile banking ของแต่ละ สง. ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์ การยกระดับการยืนยันตัวตนด้วย biometrics มาตรการรักษาความปลอดภัยบน mobile banking เพื่อป้องกันแอปพลิเคชันดูดเงิน
รวมถึงมาตรการแจ้งเตือนและสร้างความตระหนักรู้ โดย ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเพียงพอของมาตรการต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภัยการเงินที่มีการพัฒนาต่อไป
อย่างไรก็ดี การจัดการภัยทางการเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต้องบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาได้ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน
รวมทั้ง ความร่วมมือของประชาชนที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบและการป้องกันภัยทางการเงินที่มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน
เช่นเดียวกับที่ควรอัปเดตระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชัน mobile banking ให้ล่าสุดอยู่เสมอ หรือไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมนอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนา ไม่ใช้โทรศัพท์ที่ไม่ปลอดภัยทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะเป็นอีกหัวใจสำคัญในการป้องกันภัยได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง (1) ตั้งสติ และหยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที (2) ให้รีบติดต่อ สง. ที่ใช้บริการทันที ผ่านช่องทาง call center hotline ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสาขาภายในเวลาทำการ เพื่อระงับธุรกรรมหรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหายและบัญชีปลายทาง และ (3) แจ้งความอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ Thaipoliceonline.com ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานีตำรวจ เพื่อให้ตำรวจแจ้ง สง. ขยายระยะเวลาการระงับธุรกรรมหรือบัญชีต่ออีก 7 วัน เพื่อสืบสวน สอบสวนและออกหมายอายัดบัญชีต่อไป