posttoday

ส่องเศรษฐพุฒิท่ามกลางข่าวปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติถึงวันที่นายกฯเรียกพบ

29 กันยายน 2566

ส่องประวัติเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ท่ามกลางกระแสข่าวปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ที่สุดท้ายนายกฯ เศรษฐาออกมาปฏิเสธ จนถึงวันที่เรียกพบจากปมนโยบายการเงินประสานงารัฐบาล

กระแสปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเป็นที่โจษจันในวงกว้างเมื่อยธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นผ่าน Facebook ส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ถึงกระแสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังจะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คือดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จากตำแหน่งว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" เนื่องจากมีกฎหมายตีกรอบป้องกันไว้

กระทั่งไม่กี่วันจากนั้น หลังนายกฯ เศรษฐา กลับจากประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่สหรัฐฯ ก็ออกมาปฏิเสธ พร้อมย้ำว่าไม่เคยมีความคิดที่จะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติตามที่มีกระแสข่าวในรวมถึงมองว่าเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา ได้มีการหารือเกี่ยวกับการออกดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติก็ให้คำแนะนำ โดยที่ตัวนายกฯ เองก็พร้อมรับและปฏิบัติ ดังนั้นจึงไม่เคยคิดที่จะปลดดร.เศรษฐพุฒิอย่างแน่นอน

แต่หลังข่าวลือแรกเพิ่งจางได้ไม่นาน ก็เกิดกระแสใหม่ที่มีรายงานข่าวระบุว่า ด้วยท่าทีของแบงก์ชาติล่าสุดที่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% แต่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ด้วยมองว่าไปในทิศทางชะลอลงในปีนี้ จึงลดเป้าตัวเลขจีดีพีลง 0.8% เหลือ 2.8% จาก 3.6%

ดังนั้น จึงดูเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางนโยบายการคลัง จนนำไปสู่การส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจ ที่แบงก์ชาติออกตัวแสดงท่าทีไม่สนับสนุนแนวทางที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทั่งนำไปสู่ข่าวใหม่ว่านายกฯเรียกพบผู้ว่าฯแบงก์ชาติ โดยล่าสุดดร.เศรษฐพุฒิก็ยืนยันแล้วว่า เขามีกำหนดการพบเศรษฐาในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค. 2566 แม้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะเป็นการหารือเรื่องใด หรือมีคำถามเรื่องไหนบ้าง ซึ่งเขาเองพร้อมตอบทุกคำถาม 

ถึงตรงนี้มาทำความรู้จักกับดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลำดับที่ 24 (เริ่มรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ต.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน) ให้มากขึ้น โดยเขาเกิดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ซึ่งมีประวัติการศึกษาที่ไม่ธรรมดา ทั้งคว้าปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ในปี 2529 ต่อด้วยคว้าปริญญาโท M.Phil. (Economics) ในปี 2534 และปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล  ในปี 2537

​เรื่องเส้นทางชีวิตการทำงานก็ผ่านประสบการณ์ที่ทั้งหลากหลายและโดดเด่น ทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และตลาดการเงิน

2529 - 2531

Business Analyst, McKinsey & Co., New York สหรัฐอเมริกา

​2541 - 2543

ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง

​2535 - 2541 / ​2544 - 2547

Senior Economist, World Bank, Washington DC สหรัฐอเมริกา

2548 - 2550

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2550 - 2551

อนุกรรมการจัดการลงทุน (Investment Committee) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

​กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

2551 - 2552

กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด

2552 - 2554

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

​2554 - 2555

กรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

​2543 - 2560

Visiting Professor of Economics สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2554 - ม.ค. 2561

​กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด

2555 - ก.พ. 2560

ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

2560 - มี.ค. 2563

กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

2557 - ส.ค. 2563

กรรมการอิสระ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
และกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

2557 - ก.ย. 2563

กรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

2558 - ก.ย. 2563

กรรมการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

2559 - ส.ค. 2563

กรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

1 ต.ค. 2563 - ปัจจุบัน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

​ตำแหน่งทางสังคมและงานอื่นที่สำคัญ (ในปัจจุบัน)​

กรรมการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ก​รรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย