เร่งเสริมเสน่ห์ EEC ชู Long term VISA หวังดึงเงินทุนแตะปีละ1แสนล้านใน5ปี
เลขาฯ อีอีซี กางแผนดึงเงินทุนปีละ 1 แสนล้านหวังกวาด 5 แสนล้านสู่ไทยใน 5 ปี ชู Long term VISA ปาดหน้าคู่แข่งประเทศอื่น พร้อมเร่งพัฒนาแหล่งระดมทุน (EEC Fundraising Venue) ดูดสุดยอดโปรเจ็คต์
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษพร้อมเปิดเผยถึงเป้าหมายหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (อีอีซี) ภายใน 5 ปีว่า กำหนดเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนราว 5 แสนล้านบาท หรือราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการลงทุนโดยเฉลี่ยที่ 6 หมื่นล้านต่อปี
ทั้งนี้คาดว่าจากทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก (การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG บริการ) นั้น กลุ่มอีวีน่าจะเห็นความชัดเจนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ก่อน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใส่เม็ดเงินมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มดิจิทัลโดยเฉพาะด้าน Data Center และ Semi-Conductor ที่ผู้ประกอบการฝั่งจีนมีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิต จึงจำเป็นต้องช่วงชิงให้เข้ามายังเมืองไทยในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ให้ได้
ถ้าดึงเม็ดเงินลงทุนปีละ 1 แสนล้านได้ เมื่อมาลงในพื้นที่แล้วก็จะมีการเคลื่อนย้ายเงิน หมุนเงินอีกหลายรอบในเชิงเศรษฐกิจ จึงจำเป็นในเชิงกลยุทธ์ที่จะกำหนดแผนให้เห็นภาพรวมว่าปลายทางจะได้ 5 แสนล้านใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับความคืบหน้าในส่วนของการดำเนินงานตามแผนระยะ 1 ปี (ต.ค.66 - ก.ย.67) และเป้าหมายเร่งด่วนภายใน 99 วัน ของ EEC เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลก ที่ได้แยกย่อยออกเป็นนโยบาย 8 ด้านหลัก ล่าสุดในส่วนการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิ การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด นั้น
เลขาฯ อีอีซี ยังเปิดเผยอีกว่า จะมีการดำเนินโครงการทำกฎหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อผู้ประกอบการเห็นว่าหากเข้ามาลงทุนในเมืองไทยจะดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการระบุถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการยกเว้นภาษีสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC Long term VISA) เป็นกรณีพิเศษ ที่ทาง EEC ยังอำนวยความสะดวกในส่วนออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ตลอดจนเอกสารที่จำเป็นสำหรับบางวิชาชีพ เช่น ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์ อีกด้วย
ดึงดูดด้วย EEC Long term VISA
โดยเฉพาะในส่วน EEC Long term VISA สําหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทํางานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ อาทิ ผู้มีความ เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ซึ่งทาง EEC ให้ระยะยาวสูงสุดได้ถึง 10 ปี แต่การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานจะให้จริงตามสัญญาจ้าง
ทั้งนี้ เลขาฯ อีอีซี มองว่า Long term VISA จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้บริษัทหรือผู้ประกอบการที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยสามารถหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ทั้งในส่วนผู้บริหารระดับสูง (C-level) และในส่วนผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาทำงานได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ติดตามจะได้รับวีซ่าระยะยาวในการอยู่อาศัยในประเทศไทยไปด้วย จึงเท่ากับเป็นการช่วยผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนให้มีต้นทุนในการทำธุรกิจที่ลดลงจากที่ได้คนมีผีมือดี ๆ มาช่วยทำงาน ซึ่งจะดำเนินการได้อย่างเป็นทางการหลัง 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
เรามองว่าครอบครัว (ผู้ติดตาม) มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองไทย เราไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะตัวเขาแต่ดูแลครอบครัวด้วย ซึ่งทุกวันนี้เราแข่งกับเวียดนามได้แน่ เพราะอยู่เมืองไทยสนุกกว่าแน่นอน
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการยกเว้นภาษี ทางดร.จุฬายืนยันว่าสามารถขยายระยะเวลาได้ยาวนานกว่าในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่สูงสุดถึง 15 ปี แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงและการพิจารณาของคณะเจรจาสิทธิประโยชน์ 5 คณะ (การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG บริการ) แบบเป็นกรณีไป และต้องพิจารณาจากอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี
สำหรับนโยบายด้านการสร้างระบบนิเวศสําหรับการลงทุนนั้น ดร.จุฬาเปิดเผยความคืบหน้าอีกว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้า จะให้น้ำหนักกับเรื่องพัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี (EEC Fundraising Venue) เพื่อรองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ ที่ใช้เงินตราต่างประเทศ มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไป จดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผลู้งทนุในตลาดได้
เช่นกรณีล่าสุดที่ สกพอ.จับมือธนาคารกสิกรไทย ที่จะประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดบริการทางการเงิน การทำธุรกรรมการเงิน และการลงทุนต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ได้อย่างคล่องตัว สะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนที่เหมาะสม
รวมทั้งจะสนับสนุนข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการเงิน นวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาระบบรองรับการระดมทุนให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจไทย และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวได้อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีรองรับบริการทางการเงินที่ครบวงจร เช่น การระดมทุน และการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม และมีความสนใจเข้าระดมทุนในรูปแบบโครงการ (Project Finance) ในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ผ่านการซื้อขายของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีความพร้อม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ระดมเงินทุน เข้าถึงบริการทางการเงิน และทำธุรกรรมการเงินที่สะดวก และมีต้นทุนที่เหมาะสม ตลอดจนกิจกรรมด้านการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่อีอีซี ให้มีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย และตอบโจทย์ทางธุรกิจมากขึ้น
อย่างน้อยคนที่จะลงทุนใน EEC จะสามารถหาแหล่งเงินหรือแหล่งทุนในประเทศไทยได้ด้วย หรือพูดง่าย ๆ คือไม่จำเป็นต้องกำเงินมาอย่างเดียว แต่มาหาเงินเอาข้างหน้านี้ได้ด้วยหากโปรเจ็คต์ของเขาดีพอ