posttoday

ผู้ถือหุ้น JMART เผย อดิศักดิ์ถูกบังคับขายหุ้น หลังราคาร่วงแรง

18 กุมภาพันธ์ 2566

ผู้ถือหุ้น JMART เผยราคาร่วงแรง จนถูก Margin Call กดดันให้เจ้าของถูกบังคับเทขายหุ้น Big Lot พลิกให้วันนี้จากบริษัทที่เคยมีมูลค่าระดับแสนล้าน มีราคาหุ้นลงอย่างรวดเร็ว -34.7% ใน 1 เดือน

จากที่ก่อนนี้มีรายงานข่าวถึงประเด็นที่ราคาหุ้นของ หุ้นกลุ่ม J ที่ประกอบด้วยบมจ.เจมาร์ท (JMART) ปิดที่ 42.75 บาท ลดลง 7.25 บาท หรือลดลง 14.50% จากช่วงเช้าขึ้นไปสูงสุดที่ 50.50 บาท หุ้น บมจ.ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) หรือ SINGER ปิดที่ 18.80 บาท ลดลง 2.30 บาท หรือ 10.90% ต่ำสุด 18.60 บาท สูงสุด 21.40 บาท และ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ปิดที่ 3.56 บาท ลดลง 0.24 บาท หรือ 6.32% 

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีข่าวที่บริษัทออกเผยแพร่เกี่ยวกับแผนงานและเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2566 ที่มุ่งจะทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องและเป้าเติบโต 50% จากปีก่อนหน้าที่ มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท ซึ่งลดลง 27% โดยให้เหตุผลว่าหากไม่รวมรายการกำไรพิเศษที่เกิดขึ้น จำนวน 1,296 ล้านบาท ในปี 2564 บริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิเติบโตที่ 53% 

 

พร้อมกับที่ราคาหุ้นของ JMART ในวันดังกล่าวก็ปิดที่อยู่ที่ 29.50 บาท บวก 1 บาท หรือ 3.51% สูงสุดที่ระดับ 30.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 28 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.92 พันล้านบาท ซึ่งมีกระแสข่าวบนโลกออนไลน์ว่า เกิดจากที่มีรายการสรุปซื้อขายกระดานรายใหญ่ (Big lot) ของหุ้น JMART จำนวน 4 รายการ มีปริมาณ 40,025,400 หุ้น มูลค่ารวม 1.1 พันล้านบาท

 

กระทั่งต่อมามีรายงานข่าวอีกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ราย ของ JMART ได้ขายหุ้นออกกว่า 54 ล้านหุ้น  เป็นมูลค่ารวม 1,459 ล้านบาท ให้แก่สถาบัน  ผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

 

นั่นคือ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ JMART ทำรายการ วันที่ 15 กุมภาพันธ์2566  ขายหุ้นมูลค่ารวม 344 ล้านบาท จากจำนวน 195,388,916 หุ้น (13.41%) เหลือจำนวน 181,388,916 หุ้น(12.45%) 

 

รวมถึง น.ส.ยุวดี พงษ์อัชฌา กรรมการ JMART ทำรายการ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ขายหุ้นมูลค่ารวม1,060 ล้านบาท จากจำนวน 110,894,154 หุ้น (7.61%) เหลือจำนวน 70,894,154 หุ้น (4.86%) 

 

ด้วยเหตุการณ์นี้จึงสั่นคลอนความเชื่อมั่น จนสร้างแรงเทขายหุ้นตามออกมา ซึ่งทำให้ความเคลื่อนไหวการซื้อขายหุ้นกลุ่ม JMART เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ปรับตัวลงเกือบทั้งกลุ่ม แม้จะมีการยืนยันออกมาว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงาน หรือโครงสร้างการจัดการของบริษัทก็ตาม 

 

สำหรับหุ้นที่ราคาร่วงลงได้แก่ 

  • บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ปิดที่ 27.25 บาท ลดลง 2.25 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 7.63% 
  • บมจ. ซิงเกอร์ ประเทศไทย หรือ SINGER ปิดที่ 17.30 บาท ลดลง 1.00 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 5.46%
  • บมจ. เอสซี แคปปิตอล หรือ SGC  ปิดที่ 3.60 บาท ลดลง 0.14 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 3.74%
  • บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท ประเทศไทย หรือ J ปิดที่ 3.58 บาท ลดลง 0.12 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 3.24%
  • บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ปิดที่ 45.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.55% (ปรับขึ้นเพียงรายเดียวในกลุ่ม)


ทั้งนี้ทางฝั่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ทั้งให้ระวังราคาจากแรงเทขาย และการเข้าซื้อในช่วงที่ราคาลดลงห่างจากราคาเป้าหมาย

 

โดยบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ราคาหุ้นในกลุ่ม JMART ปรับตัวลงต่อเนื่อง ทั้ง JMART, SINGER, J หลังสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เนื่องจากทางผู้บริหารได้มีการขายหุ้นออกมา ซึ่งการที่เจ้าของขายหุ้นออกมาก็ถือว่าไม่ดีในแง่ความรู้ของนักลงทุน แม้ว่าจะขายหุ้นให้แก่นักลงทุนสถาบัน แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าทางสถาบันที่เข้าซื้อหุ้นจะไม่ขายออก

บล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังคงแนะนำการเข้าซื้อของหุ้น JMART โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 43.00 บาทและอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 3.6% 

 

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ จากการขายหุ้นที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาของหุ้นกลุ่ม J ทำให้ราคาหลุดแนวรับทุกแนว และยากที่จะประเมินได้ว่า จะลงไปสิ้นสุดที่ตรงไหน รวมทั้งยังเกิดการ “แพนิก” ไปยังนักลงทุนรายย่อย จนเกิดการ Force sell หรือบังคับขาย จากราคาหุ้นที่ลดลงมาหนัก

 

ล่าสุดพีรนาถ โชควัฒนา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 10 ของ  JMART เปิดเผยถึงการที่ได้มีโอกาสสอบถามเหตุผลกับอดิศักดิ์โดยตรงเกี่ยวกับที่ต้องขายหุ้น Big Lot  ล่าสุด ระหว่างการสัมภาษณ์ทาง รายการ Money Chat ว่า

 

ด้วยสถานการณ์ที่ราคาหุ้น JMART ตกลงมาอย่างแรง ทำให้อดิศักดิ์ต้องถูก Margin Call สำหรับการกู้เงินจากบริษัทหลักทรัพย์ ที่เอาหุ้นของผู้กู้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้ได้เงินสดออกมา

 

แต่หากหุ้นนั้นตกลงมาถึงจุดหนึ่ง ผู้กู้จะต้องหาเงินมาวางเพิ่ม แต่หากหาเงินไม่ได้จะต้องโดนบังคับขายหุ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตให้ช่วงที่ผ่านมาก็คือ อดิศักดิ์ จำเป็นต้องหาสถาบันมารับหุ้นแทน เพื่อไม่ให้โดนบังคับขายหุ้นนั่นเอง 


พีรนาถ เล่าอีกว่าอดิศักดิ์อธิบายให้ฟังว่าโดน Margin Call ซึ่งในตอนนั้นเขาเองก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงโดน จนได้รู้ว่าอดิศักดิ์ซื้อหุ้นไปสูงมาก ก็จำเป็นต้องใช้เงินกู้ตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้

 

เพราะไม่ได้ซื้อ JMART ตัวเดียว แต่ซื้อหุ้น GUNKUL ด้วย แล้วล่าสุดเพิ่งไปซื้อโรงแรมที่เชียงใหม่ด้วย จึงเป็นไปได้ที่ต้องใช้วงเงินกู้ ซึ่งที่ดีที่สุดก็คือวงเงิน margin ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นตกลงมามากและเร็วขนาดนี้ จึงต้องถูก Margin Call


"ตอนผมถาม คุณอดิศักดิ์ก็นักเลงพอว่าตอบได้ เพราะเป็นเรื่องจริง นักธุรกิจไม่มีเงินสดนอนเฉย ๆ อยู่ในธนาคารรอดอกเบี้ยต่ำ แกจึงใช้เงินกู้ margin พอหุ้นลงมาเร็วก็มีอาการช็อตบ้าง แต่ก็เพิ่งเข้าใจว่าการใช้ margin ถ้าเตรียมไม่ทัน ก็จำเป็นต้องหาคนมารับในปริมาณที่ปลอดภัยและจบ แต่ก็ต้องโดนต่อรองในราคาที่ถูกกว่าที่ซื้อมาเกิน 50%" 

 

อย่างไรก็ตาม พีรนาถยังเปิดเผยว่ายังคงมีความเชื่อมั่นต่อหุ้น JMART โดยเล่าว่าเขาซื้อหุ้น JMART ตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ราว 13 ปีก่อน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัทขายหุ้นออก ย่อมเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดี ในมุมของนักลงทุน จนแห่ขายหุ้นออกมา 


"แต่ผมมีความเชื่อมั่นเพราะผมถือมาตั้งแต่วันแรกว่ามันต้องมีเหตุผลเราจะคิดแบบตื้น ๆ ไม่ได้"

 

นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ควรต้องเชื่อก่อนว่าอดิศักดิ์เป็นคนอย่างไร และไม่ควรกล่าวหาหรือต่อว่าในการขายหุ้น big lot ดังกล่าว และไม่ควรคิดเองไปก่อนว่าการขายหุ้นออกไป เพราะกิจการแย่เหมือนหลาย ๆ พร้อมให้ความเห็นว่าการคิดแบบคนทั่วไปถือว่าง่ายเกินไป เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อถือซึ่งกันและกัน

 

นอกจากนี้ พีรนาถยังเปิดเผยถึงเหตุผลที่ ขายหุ้น  SGC ว่า เพราะต้องการเงินส่วนนี้ไปใช้ลงทุนในร้านอาหาร ขณะที่เงินบางส่วนที่สำรองไว้เพื่อจองหุ้นเพิ่มทุน จึงเทขายหุ้นออกไปเกือบหมด ขณะตัวเขาเองก็มีหุ้น SINGER แค่หมื่นกว่าหุ้น 

 

พีรนาถกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขาต้องให้กำลังใจและเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้อาจจะดูไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป พร้อมเปิดใจอีกว่าเห็นถึงความสามารถของผู้บริหารกลุ่ม JMART ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีมากทุกครั้งที่มีวิกฤตแล้วราคาหุ้นตก 

 

โดยครั้งแรกตกจาก 60 บาท มาถึง 70% ซึ่งทุกครั้งมีเหตุอันควรที่มาจาก performance หรืออาจจะมาจากการตั้งสำรองที่ผิดพลาด แต่ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่งบที่ประกาศออกมาก็ยังโตทุกบริษัท เพียงแต่การคาดหวังอาจจะสูงเกินไป 

 

"ผมคิดว่ากลุ่มนี้ทำงานจริงจังทำให้ผมถือหุ้นได้ยาวขนาดนี้ และทุกครั้งที่ผ่านวิกฤตมาก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย มีโอกาสเพิ่มทุกครั้ง ผมพึงพอใจมากเมื่อเทียบกับอดีต แม้แต่วันนี้ผมก็ยังซื้อหุ้นแม้ราคาจะตกลง"