posttoday

เปิดเส้นทาง STARK ก่อนบอร์ดเผ่นหนียกชุด

20 เมษายน 2566

ย้อนเส้นทาง STARK ในอุ้งมือ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” และพวก บนความเสียหาย 3,000-5,000 ล้าน เผยเจ้าของตัวจริง “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทายาท TOA

หากพูดถึงหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ณ เวลานี้คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหุ้นที่มีดีกรีความฮอต! และเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง หลังจากมีกลิ่นไม่ค่อยดี เริ่มตั้งแต่มีการเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 หลายรอบ และล่าสุดมี กรรมการลาออกยกชุด 7 คน จนทำให้มีการตั้งแต่งกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทน 

โพสต์ทูเดย์ พามาดูเส้นทางกว่าจะมีเป็น STARK ก่อนจะเจอปมปัญหาจนกลายเป็นกรณีที่สั่นสะเทือนวงการตลาดหุ้นอีกกรณีหนึ่ง 

เริ่มจากการที่เจ้าของได้ไปซื้อบริษัทมา และ Backdoor Listing บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM เข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายปี 2561 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ในปัจจุบัน 

โดย STARK ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) มีบริษัทย่อยเป็นผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ในการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลมามากกว่า 50 ปี นอกจากธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล STARK ยังมีบริษัทย่อยที่ประกอบกิจการให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล 

อย่างไรก็ตาม เจ้าของไม่ได้เข้ามาบริหาร STARK เอง แต่ให้ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” เข้ามา-บริหาร ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2562-2564 มีรายได้ 11,607.71 ล้านบาท, 16,917.68 ล้านบาท, 27,129.64 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท, 1,608.66 ล้านบาท, 2,783.11 ล้านบาท ตามลำดับ ล่าสุดงวด 9 เดือน ปี 2565 มีรายได้ 21,877.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,216.47 ล้านบาท จนทำให้ได้เข้าอยู่ใน SET 50 

จนกระทั่ง STARK มีการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ในจำนวนหุ้น 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.72 บาท ซึ่งได้ดำเนินการขายและชำระราคาหุ้นเพิ่มทุนสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 ให้กับ 12 ราย ประกอบด้วย 

1.Credit Suisse (Singapore) Limited จำนวน 74,399,900 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 276.76 ล้านบาท 

2.The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited, Singapore Branch จำนวน 353,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 1,313.16 ล้านบาท 

3.UOB Kay HianLimited จำนวน 58,500,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 217.62 ล้านบาท  

4.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด จำนวน 320,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 1,190.40 ล้านบาท 

5.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด จำนวน 268,817,200 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 999.99 ล้านบาท 

6.บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด จำนวน 182,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 667.04 ล้านบาท 

7.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด จำนวน 53,763,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 199.99 ล้านบาท

8.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จำนวน 51,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 189.72 ล้านบาท 

9.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด จำนวน 47,029,800 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 174.95 ล้านบาท 

10.บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 30,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 111.60 ล้านบาท 

11.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด จำนวน 29,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 107.88 ล้านบาท 

12.บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำนวน 32,490,100 หุ้น คิดเป็นมูลค่าลงทุน 120.86 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อลงทุนใน LEONI Kabel GmbH (เยอรมนี) และ LEONIsche Holding Inc (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งในส่วนของการเพิ่มทุน และออกหุ้นกู้ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนให้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก 

จากนั้นมีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีของบริษัท เป็น บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด จนมีการแจ้งส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า และตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP จนกระทระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2566 กรรมการลาออกยกชุด ตั้งกรรมการใหม่ พร้อมแจ้งเลื่อนส่งงบการเงินปี 2565 ครั้งที่ 3 ซึ่งในส่วนนี้บ่งชี้ถึงปัญหาของ STARK

  เปิดเส้นทาง STARK ก่อนบอร์ดเผ่นหนียกชุด

แหล่งข่าววงการตลาดทุน ระบุว่า จากปัญหาดังกล่าวเชื่อว่า STARK อาจจะมีการตกแต่งบัญชี โดยการขายเทียมมูลค่ากว่า 3,000-5,000 ล้านบาท มีการบุ๊กขายส่งไปต่างประเทศ แต่ไม่มีการขายจริง โดย STARK มีการทำเอกสารหลอกผู้สอบบัญชี ส่วนการลาออกของกรรมการ เป็นลดจำนวนคนที่ผิดให้น้อยที่สุดเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ STARK จะไม่ได้บริหารโดยเจ้าของ แต่เจ้าของที่แท้จริง คือ “ตระกูลตั้งคารวคุณ” เจ้าของ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA โดยมี “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ STARK จำนวน 3,196,750,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.85% 

แม้ล่าสุด TOA จะออกมาปฏิเสธว่าบริษัทไม่ได้มี่ความเกี่ยวข้องกับ STARK ทั้งในด้านการลงทุน การถือหุ้น หรือการร่วมบริหารงาน โดยมีเพียง “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ซึ่งเป็นกรรมการของ TOA เป็นกรรมการ และผู้บริหารของ STARK เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทแต่อย่างใด… 

คงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิด STARK จะกลายเป็นมหากาพย์เวอร์ชั่น 2023 เพราะที่กล่าวมา เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง!