ถอดแนวคิดลงทุน"หมอประมุข" กับ 7วิธีคัดหุ้น VI ขั้นเทพ
เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ทุกความเสี่ยงปิดได้ด้วยหลักคิด 7 วิธีคัดหุ้นแนว VI สไตล์ "นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ"
"การลงทุนในอดีตกับตอนนี้ถือว่าแตกต่าง เมื่อก่อนเราเลือกหุ้นด้วยการดูค่า P/E , ROE, ROA เป็นอันดับแรก แต่ในปัจจุบันด้วยภาพตลาดหุ้นและสถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนไป สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญเลยคือ เป็นธุรกิจที่สามารถจับต้องได้
ผมชอบลงพื้นที่เข้าไปดูธุรกิจด้วยตัวเอง และเน้นหุ้นที่ผู้บริหารมีธรรมภิบาล พูดอะไรแล้วทำได้จริง ไม่พูดโอเวอร์มากเกินจริง ธุรกิจไม่เน้นโตเร็วแต่เน้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าหุ้นดีและราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงในตลาดยังมีอยู่ เพียงแต่เราต้องหาให้เจอก่อนเท่านั้น" นี่คือแนวการเลือกหุ้นในแบบของ "นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ" นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) ผู้ที่มีอิสรภาพทางการเงินและไม่หยุดที่จะเรียนรู้เรื่องลงทุนและธุรกิจใหม่ๆ
ย้อนกลับไปในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ "หมอประมุข" เล่าให้ "โพสต์ทูเดย์" ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ในช่วงนั้นลงทุนแบบนักเก็งกำไรตามเพื่อนๆ เงินทุนก้อนแรกหลักหมื่นบาทเท่านั้น ด้วยความที่ไม่ค่อยมีเวลาและไม่มีความรู้ การซื้อมาและขายไป เล่นแบบแมงเม่าจริงๆ ทำให้ขาดทุนบ้างและกำไรบ้างในบางที สลับกันไป แต่โดยรวมเรียกได้ว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ"
จุดเปลี่ยนชีวิต
หลายคนอาจมองว่า "อาชีพหมอ" มักจะมีโอกาสที่เหนือกว่าหลายอาชีพในหลายมิติ ทั้ง รายได้, ความมั่นคง และการลงทุนในตลาดหุ้นได้ง่าย แต่แท้จริงทุกอาชีพก็สามารถลงทุนได้เช่นกัน และไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่าการลงทุนอะไรจะสำเร็จ
เพราะหลังจากนั้น ตนได้ห่างหายจากการเล่นหุ้น จะเรียกว่าเลิกเล่นหุ้นไปเลยก็ว่าได้ เพื่อออกมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางที่ค่อนข้างหนักจึงไม่ค่อยมีเวลาในการเฝ้าดู แต่นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เพราะพูดตามจริงความเสี่ยงที่สุดในการลงทุน คือ "ความไม่รู้จริง" การเป็นนักลงทุนที่ดีต้องศึกษาหาความรู้และเข้าใจธุรกิจได้อย่างถ่องแท้นั่นคือสิ่งที่ช่วยให้เปลี่ยนชีวิตได้
จากนั้นไม่นานได้กลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ด้วยเม็ดเงินลงทุนหลักแสนบาท ด้วยความที่เริ่มมีลูกเข้ามาเติมเต็มครอบครัวจึงมองหาความมั่นคงที่มากขึ้น ในช่วงแรกเน้นลงทุนหุ้นปันผล หุ้นห่านทองคำตามแนวของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร และ โรเบิร์ต คิโยซากิ ทำให้เปิดใจลงทุนหุ้นปันผล แต่ก็ยังมีวิญญาณของนักเก็งกำไรอยู่บ้าง แต่คิดว่าไม่รอดแน่ๆเพราะใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัดมากกว่าหน้าจอเทรด ดังนั้นตนเองจึงตัดสินใจศึกษาหาความรู้ด้านพื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI อย่างจริงจัง
แม้จะไม่รู้เรื่องการถอดรหัสงบการเงินเหมือนคนอื่นจนเกือบจะถอดใจ แต่โชคดีที่ได้กัลยาณมิตรนักลงทุนที่ช่วยให้กำลังใจ ซึ่งหลักการลงทุน VI มีหัวใจสำคัญตรงที่ "ซื้อหุ้นให้ต่ำกว่ามูลค่าที่เป็นจริง"คือหลักการเบื้องต้นที่ทำให้รู้จักการลงทุน
จากนั้นได้อ่านหนังสือการลงทุนจริงจัง ลงทุนเรียนคอร์สเกี่ยวกับการเงินอย่างจริงจัง และแลกเปลี่ยนความรู้กับกูรู VI และนี่ก็คือจุดที่ก้าวเข้าสู่การลงทุนแนว VI ที่สร้างการเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้
VI ตอบโจทย์ชีวิต!
ยอมรับว่าแนวทางการลงทุนแบบ VI คือคำตอบที่ตอบโจทย์ที่สุด และช่วยพลิกชีวิตจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่มีอาชีพเป็นหมอ เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องผ่าตัด ดังนั้นหากซื้อหุ้นในช่วงเช้าเพื่อหวังขายทำกำไรระหว่างวันจึงเป็นไปแทบไม่ได้เลย เราไม่สามารถนั่งเฝ้ากระดานหุ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการลงทุนแบบเก็งกำไรจึงไม่ตอบโจทย์ และได้พิสูจน์ในช่วงเรียนแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจากที่เปลี่ยนแนวมาลงทุนแบบ VI เชื่อหรือไม่ว่าประสบความสำเร็จได้อย่างมากมาย มีเวลาในการศึกษาหาความรู้ สแกนหุ้นได้มากขึ้น เข้าไปเจาะลึกธุรกิจได้เพิ่มขึ้น ก็จะมีเวลาคัดหุ้นพื้นฐานที่ดีจริงๆเข้าลงทุนได้
"ข้อดีของผมคือถ้าผมไม่รู้อะไร ผมจะถามทันที เมื่อเราเริ่มต้นจากศูนย์ และไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว เราก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้ทุกเรื่อง อ่านเยอะมาก ใช้ความรู้เป็นอาวุธในการลงทุน เรียนรู้ทุกอุตสาหกรรมจนรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบธุรกิจอะไร ซึ่งส่วนตัวชอบหุ้นปันผลและแนวโมเดิร์นเทรดและพอดีช่วงนั้นมีธุรกิจแนวนี้เข้ามาในตลาดพอดีถือเป็นจังหวะที่โชคดี"
ลงทุนในอดีตต่างจากปัจจุบัน ?
ถือว่าแตกต่าง เพราะในอดีต การหาข้อมูลค่อนข้างจำกัด แต่ดีตรงที่มีเวลาในการคิดและคัดกรองได้นานกว่าที่จะตัดสินใจเลือกหุ้น หรือทยอยเก็บสะสมหุ้นที่ดีจริงๆ แต่ในปัจจุบันข้อมูลหาได้ง่ายมีหลากหลายช่องทาง หากเราคิดช้าแต่ VI คนอื่นมองเห็น ราคาก็ปรับตัวขึ้นไปแล้ว เราก็จะเสียโอกาสนั้นไป
ขณะที่การลงทุนในปัจจุบันต้องใช้คำนี้คือ "Scuttlebutt" หมายความว่าการสืบหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมที่นักลงทุนใช้หาหุ้น โดยเข้าไปสืบว่าธุรกิจของหุ้นที่เราสนใจเป็นอย่างที่เราคิดและเข้าใจหรือไม่ เช่น เวลาผ่านสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตัวไหนจะพลิกดูข้อมูลด้านหลังทันทีว่าบริษัทมหาชนไหนเป็นผู้ผลิต เป็นต้น
ดังนั้นหุ้นส่วนใหญ่ที่ลงทุนจึงมักจับต้องได้ ง่ายต่อการเข้าถึงธุรกิจและไม่ยากต่อความเข้าใจของเรา สิ่งสำคัญคือเข้าไปดูธุรกิจได้ง่าย อยู่ในเมกะเทรนด์ หนี้น้อย และมีเงินสด เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป วิธีเลือกหุ้นที่น่าสนใจและเป็นแบบเฉพาะตัวที่แนะนำ มีดังนี้คือ
1. ธุรกิจจับต้องได้ ง่ายต่อความเข้าใจ ไม่เน้นธุรกิจที่เข้าถึงยาก หรือเข้าถึงข้อมูลได้ยาก
2. ธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ เกี่ยวกับสุขภาพ, การรักษาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง, อาหาร, ร้านขายยา เป็นต้น
3. เป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี มีสภาพคล่องที่ดี ที่สำคัญก่อหนี้น้อย
4. อัตราส่วนราคาต่อผลกำไรสุทธิต่อหุ้นเทียบกับการเพิ่มของผลกำไร (PEG Ratio) ต่ำกว่า 1 เท่า
5. เจ้าของที่มีธรรมาภิบาล ส่วนตัวไม่เน้นผู้บริหารที่ชอบบอกว่าธุรกิจจะเติบโตมากเกินจริง การเติบโตบนความจริงที่เป็นไปได้มและทำได้จริงคือสิ่งที่สำคัญ
6. อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เติบโตมากกว่า 15-20%
7. อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เติบโตมากกว่า 10-15%
"สิ่งที่สำคัญในการลงทุนคือ EQ คือความสามารถในการครองสติเวลาที่เกิดปัญหา เช่น เวลาที่เกิดแพนิคจากข่าวร้าย เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเหมือนในอดีต ตลาดหุ้นร่วงหนัก ฯลฯ หากเกิดภาวะแบบนี้เราครองสติอย่างไร VI ต้องต่างในจุดนี้ด้วย เวลาซื้อหุ้นทุกคนซื้อได้เหมือนกันแต่เวลาขายมันคือศิลปะที่เราจะรับรู้กำไรหรือขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนพื้นฐานหรือเก็งกำไร จุดขายคือจุดที่สำคัญ เราลงทุนไม่ใช่แค่หาค่ากับข้าว แต่ลงทุนเพื่อเปลี่ยนหลักในบัญชีธนาคาร จาก 5 หลัก เป็น 7 หรือ 8 หลัก ซึ่งทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ทุกความเสี่ยงก็สามารถผ่านไปได้ด้วย "ความรู้" หากเราศึกษาหาความรู้ให้มากพอจะทำให้เราผ่านจุดเสี่ยงได้"