posttoday

ผ่ากำไร "ครอบครัว SCC" ปี67 ฟื้น รึ ฝ่อ ? วางเกมไง

24 มกราคม 2567

SCC ประกาศงบปี 2566 อวดกำไร 25,915 ล้านบาท โต 21% บุ๊กกำไรการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก สวนทางรายได้เพียง 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% ตามราคาเคมีภัณฑ์ แจกปันผลครึ่งปีหลังอีก 3.5 บาท ขึ้น XD 4 เม.ย.นี้

     "ครอบครัว SCC" ออกอาการน่าเป็นห่วงขึ้นมาทันที หลังจากที่ "บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP" ประกาศกําไรไตรมาส 4/66 ทำได้เพียง 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% YoY , ลดลง 8% QoQ ถือว่าตํ่ากว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ผลจากประเทศจีนมีการปิดเมืองในช่วงไตรมาส 4/65 ส่งผลให้ปริมาณขายและราคาขายลดลง ประกอบกับในไตรมาส 3/66 ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในไทยและฟิลิปปินส์ เข้าสู่ช่วง Low season รวมถึงต้นทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น

     ล่าสุด "ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ประกาศผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน ผลจากกำไรการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา มูลค่ารวม 14,822 ล้านบาท แม้ธุรกิจเคมิคอลส์มีส่วนต่างราคาขายลดลงและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาค

     ขณะที่ รายได้จากการขาย SCC ทำได้เพียง 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน สาเหตุมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง ประกอบกับสถานการณ์ตลาดในภูมิภาคที่อ่อนตัว และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics เนื่องจากเปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมจากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics

     ส่วนผลงานไตรมาส 4/66 ทาง SCC มีรายได้จากการขาย 120,618 ล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 8% จากไตรมาสก่อน ผลจากปริมาณขายธุรกิจเคมิคอลส์ , ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ลดลง และ ขาดทุนสําหรับงวด 1,134 ล้านบาท โดยรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี LSP ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่และรวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา (รายการทีไม่ใช่เงินสด) ทั้งนี้ กําไรที่ไม่รวมรายการพิเศษ1 (Profit excludingextra items)อยู่ที่ 502 ล้านบาท ลดลง 1,291 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์และต้นทุนคงที่ของ LSP

     อย่างไรก็ดี SCC จ่ายเงินปันผลประจําปี 2566 ในอัตรา 6 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 7,200 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของกําไรไม่รวมรายการพิเศษ ซึ่ง SCC จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสําหรับงวดครึ่งปีแรก 2.5 บาท และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายอีก 3.5 บาท คิดเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท พร้อมขึ้น XD 4 เม.ย.67 จ่ายเงินปันผล 23 เม.ย.67

     คำถาม คือ ปี 2567 "กำไรกลุ่ม SCC" ยังไหวหรือไม่ ? ปันผลจะน้อยลงหรือไม่ อย่างไร ? 

     ผู้สื่อข่าว "โพสต์ทูเดย์" รวบรวมความคิดเห็นจากบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประเมินภาพรวมผลการดำเนินปี 2567 ส่วนใหญ่มองว่า "ฟื้นน้อย แต่ฟื้นนะ หนทางครี่งปีแรกยังไม่ราบรื่น แต่คาดหวังจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง "

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ปี 2567 เชื่อว่า "SCC" ยังคงต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปีที่มาจากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากดดัน ทั้ง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบ Supply Chain และความผันผวนของราคาวัตถุดิบ

     รวมถึงความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในจังหวะที่โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์แห่งใหม่ที่เวียดนาม หรือ “Long Son Petrochemical Complex” (LSP) เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 67 ทำให้ SCC ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายคงที่ (Fix Cost) ประกอบด้วย ค่าเสื่อมราคา ภาระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่าย Overhead ต่างๆ เข้ามาเดือนละ 800 ล้าน บาท โดย Spread HDPE-Naphtha และ PP-Naphtha ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าน่าจะทรงตัวในระดับต่ำกว่า 400 USD/ton ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ เป็นเงินสด (Conversion Cash Cost) ของโรงงานโอเลฟินส์ทั่วไปที่อยู่ที่ 400-450 USD/ton 

     อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง บนความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ภายใต้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ ลดลงและการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินมาเป็นนโยบายผ่อนคลายทาง การเงินของหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ทยอยกลับมาเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุปทานใหม่ของปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์จะลดลงอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2567-2569 เทียบกับปี 2563-2566 ส่งผลให้แนวโน้ม Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะขยับขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567

     แม้ภาพธุรกิจในระยะยาวของ SCC ยังคงมีทิศทางที่ดี ภายใต้แผนงานด้าน ESG ที่ เป็นรูปธรรมทั้งการเร่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ สินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/66 สร้างความผิดหวังให้กับตลาดอีก ครั้ง ประกอบกับทิศทางผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ที่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงสำคัญเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธุรกิจปิโตรเคมีที่ยากลำบากขึ้นไปอีก หลังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของโรงงาน LSP เพิ่มเติม

     ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นอย่างเร็วช่วงกลางปีนี้ ในเชิงกลยุทธ์จึงปรับลดน้ำหนักการลงทุนจาก Neutral เป็น Underperform โดยประเมินราคาเหมาะสมด้วยวิธี Discount Cash Flow (DCF) ลดลงจากเดิมที่ 340 บาท เหลือ 330 บาท เทียบเท่า PER 15.88เท่า และใกล้เคียงกับมูลค่าตามบัญชี ณ สิ้นปี 2567 ที่คาดการณ์ไว้ที่ 342 บาท

282 ด่านสำคัญ

     บล.ไอร่า(ประเทศไทย) ระบุว่า SCC ระดับราคาได้ปรับตัวลดลงตามสัญญาณขายที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อหลุดแนวรับสำคัญที่บริเวณ 282 บาท ลงมาและได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนสั้นๆมีภาวะ Oversold ใน RSI อย่างมีนัยสำคัญทำให้พร้อมจะมี Rebound สั้นๆ

 

SCGP ปีนี้ฟื้นเบาๆ

     บล.ทรีนีตี้ คงประมาณการกําไรปี67 ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% YoY ยังคงแนวโน้มเชิงระมัดระวัง สําหรับการฟื้นตัวของกําไรในปีนี้ โดยธุรกิจในเวียดนามและไทยน่าจะเติบโตได้ดีจากท่องเที่ยว และ domestic consumption แต่ในประเทศอินโดนีเซียอาจจะค่อยๆฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก Demand ประเทศจีนที่ดีขึ้น แต่จากค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียด Red Sea อาจจะส่งกระทบต่อต้นทุนในช่วงถัดไป

     ฝ่ายฯเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่คอย Overhang ราคาหุ้นคือการเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีกประมาณ 44% จากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะต้องใช้เงินอีกราว 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจกระดาษในอินโดนีเซียยังไม่ดีนัก จากปัจจัยเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่สูง ปัจจุบันทางผู้บริหารได้มีการพูดคุยกับ Partner ทั้งในต่างประเทศและอินโดนีเซียที่จะเข้ามาเป็น partner ในส่วนของ Fajar ที่เหลือ รวมถึงผู้ถือหุ้นเดิมด้วย โดยคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงกลางปี 67 นี้

     ดังนั้นคงคําแนะนํา Trading Buy และราคาเป้าหมาย ปี 67 ที่ 36.50 บาท อิง Avg PER 27 เท่า โดย 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับลดลงไปกว่า 11% ด้วยแนวโน้มผลประกอบการที่ยังชะลอตัว แต่ปัจจุบัน PE Trade ที่ -2SD บ่งบอก downside เริ่มจํากัด

 

แนวโน้มไม่สดใส-ฟื้นช้า

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) มองเป้ารายได้ของ "SCGP" ที่ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% YoY ดูท้าทายภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ลุ่มๆดอนๆ ในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะตั้งงบลงทุน(CAPEX) ไว้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท (R&D 2 พันล้านบาท, ESG 5 พันล้านบาท และ M&A 1 หมื่นล้านบาท) แต่ดีลขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้เวลากว่าจะทำได้ตามเป้า ขณะเดียวกัน SCGP กลับมาพิจารณาเข้าลงทุนในโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในเวียดนามเหนือ ซึ่งจะใช้งบลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในปี 67 

     ส่วนดีลของ Fajar ซึ่งเป็นหนี่งในประเด็นที่นักลงทุนเป็นกังวล ยังอยู่ในขั้นตอนของการหาพันธมิตร และต่อรองราคา ซึ่งในแง่บวกฝ่ายฯยังคงมองว่าอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ในไทยและอินโดนีเซียยังคงมีแนวโน้มสดใสจากภาคการท่องเที่ยว และบริการ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้นคลายตัวลง

     ฝ่ายวิเคราะห์ปรับประมาณการลงเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนการจัดจำหน่ายที่สูงขึ้นในปี 67 ยอดขายที่อ่อนแอลง และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ SCGP กำลังดิ้นรนเผชิญกับภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ได้แก่ สถานการณ์ที่ตึงเครียดในประเทศจีน, การเข้าซื้อ Fajar, และต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น (กระดาษรีไซเคิล และอัตราค่าระวางขนส่ง) ขณะเดียวกัน ต้นทุน old corrugated container (OCC) ซึ่งเป็นต้นทุนหลักเพิ่มขึ้น 12% QoQ เป็น US$213/ton 

     ขณะที่อัตราค่าระวางขนส่งเพิ่มขึ้นเพราะสถานการณ์ในทะเลแดงทวีความตึงเครียดขึ้นซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายฯประเมินว่ากำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาส 1/67 จะเพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้น, เทศกาลตรุษจีน, การเลือกตั้งประธานาธิบดีในอินโดนีเซีย(14 กุมภาพันธ์ 2567) และราคา dissolving pulp สูงขึ้น

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายฯยังคงคำแนะนำถือ แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 34 บาท จาก 39 บาท สะท้อนถึงการปรับลดกำไรและการ derate EV/EBITDA ลงเหลือ 8.5x (จาก 9x) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มนี้ในต่างประเทศเล็กน้อย ทั้งนี้ SCGP จะจ่าย DPS ช่วงครึ่งหลังปี66 ที่ 0.30 บาท/หุ้น (XD 2 เม.ย.67) คิดเป็นผลตอบแทนที่ 1%

 

ดีมานด์ฟื้น ปี67เริ่มดูดี

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า SCGP งวดไตรมาส 4/66 กำไรสุทธิ 1,219 ล้านบาท ลดลง 8%QoQ ต่ำกว่าคาด ผลประกอบการถูกกดดันจากธุรกิจในฟิลิปปินส์และไทยที่ซบเซาในเดือนธันวาคม อีกทั้งมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น ธุรกิจที่ดีขึ้นชัดเจนคือธุรกิจ Fibrous Chain แต่ก็มีส่วนช่วยภาพรวมกำไรของ SCGP ได้ไม่มากเนื่องจากมีสัดส่วนรายได้เพียง 20% ปัจจัยแวดล้อมปีนี้ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้าน Demand ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน ขณะที่แรงกดดันด้านต้นทุนในปัจจุบันยังมีไม่มาก

     อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะสร้างความผันผวนต่อต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ ให้น้ำหนักการลงทุน Neutral ประเมินราคาเหมาะสมที่ 45 บาท เทียบเท่า Implied PER 30 เท่า ส่วนสัญญาณทางเทคนิคแนวโน้มราคาหุ้น SCGP แกว่ง Sideway มองแนวรับ 30 บาท แนวต้าน 34.50 / 39.75 บาท 

 

SCGD ฟื้นจากฐานต่ำ - SJWD รถไฟฟ้าหนุน

     บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาด "บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD" กำไรปกติในไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 150 ล้านบาท ลดลง 34% q-q ใกล้เคียงคาด โดยยอดขายลดลงกดดันจากต่างประเทศที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเวียดนาม ส่วนในประเทศทรงตัว ขณะที่ GPM ทรงตัวจบปี 66 กำไรสุทธิอยู่ที่ 328 ล้านบาท  (เทียบกับปี 65 ขาดทุน 421 ล้านบาท) หากไม่รวม extra items กำไรปกติ 775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% y-y

     ส่วนแนวโน้มปี 2567 ภาพการฟื้นตัวจากฐานต่ำ และ GPM ดีขึ้นจากต้นทุนก๊าซที่ลดลง อย่างไรก็ดี ฝ่ายอยู่ระหว่างปรับลดประมาณการด้วยมุมมองอนุรักษ์นิยมขึ้น เบื้องต้นอาจปรับลดกำไรปกติปี 67 ลง 20% เป็น 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% y-y และราคาเป้าหมายปรับลงเป็น 12 บาท จากปัจจุบัน 15 บาท

     ขณะที่ หุ้นของ "บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD" แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 21.50 บาท มองแนวโน้มไตรมาส 4/66 น่าจะสูงสุดของปี 66 เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการรวม SCGL ที่เกิดขึ้นในงวด 9 เดือนปีนี้เกือบ 200 ล้านบาท แต่หากมี goodwill ก็จะเป็นรายการ non-cash ไม่น่ากังวล ธุรกิจหลักดีขึ้นต่อเนื่อง บางธุรกิจอยู่ใน low season บ้าง แต่จะชดเชยได้จาก Automotive ที่โตตามยอดขายรถ EV ของ BYD

 

     ราคาหุ้น SCC ปิดการซื้อขายวันนี้(24 ม.ค.2567) อยู่ที่ 270 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท คิดเป็น +1.12% มูลค่าการซื้อขาย 821.05 ล้านบาท ระหว่างวันราคาขึ้นไปสูงสุด 271 บาท และลดลงต่ำสุด 265 บาท

     ราคาหุ้น SCGP อยู่ที่ 31.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท คิดเป็น +2.42% มูลค่าการซื้อขาย 723.48 ล้านบาท ระหว่างวันราคาขึ้นไปสูงสุด 32.50 บาท และลดลงต่ำสุด 30.25 บาท

     ราคาหุ้น SCGD อยู่ที่ 9.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท คิดเป็น +4.97% มูลค่าการซื้อขาย 45.55 ล้านบาท ระหว่างวันราคาขึ้นไปสูงสุด 9.60 บาท และลดลงต่ำสุด 8.95 บาท

     ราคาหุ้น SJWD อยู่ที่ 13.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท คิดเป็น +1.49% มูลค่าการซื้อขาย 66.86 ล้านบาท ระหว่างวันราคาขึ้นไปสูงสุด 13.70 บาท และลดลงต่ำสุด 13 บาท