BKGI ปิดเทรดวันแรก 4.40 บาท เหนือจอง 169.94%
BKGI ปิดเทรดวันแรก 4.40 บาท พุ่ง 169.94% จากราคาไอพีโอ 1.63 บาท สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่นพื้นฐานแกร่ง-หุ้นไบโอเทคโนโลยีรายแรกของไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก กางแผนปี 67 ปักธงรายได้โต 30-50% เปิดกลยุทธ์ 3 ปีข้างหน้า ลุยจับมือพันธมิตร รุกขยายฐานลูกค้าใน-ตปท. หนุนผลงานโตเท่าตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันนี้ (20 มี.ค.2567) เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์
โดยเปิดซื้อขายที่ราคา 2.18 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 0.55 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 33.74% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 1.63 บาท ระหว่างวันปรับตัวขึ้นไปทำราคาสูงสุดที่ 4.40 บาท ปรับตัวต่ำสุดที่ 2.14 บาท และปิดซื้อขายที่ราคา 4.40 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 2.77 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 169.94% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3,227.85 ล้านบาท
ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI เปิดเผยว่า พอใจกับราคาหุ้น BKGI ที่เข้าซื้อขายวันนี้เป็นวันแรก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปอย่างดีเยี่ยม สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทในฐานะหุ้นไบโอเทคโนโลยีรายแรกของไทย ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ตอกย้ำความเป็น Stock In The Future หรือหุ้นแห่งอนาคต อยู่ในเมกะเทรนด์โลก ที่มีการเติบโตสูง
ขณะที่เงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับแผนการเติบโตในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เพื่อโอกาสในการเติบโตของรายได้และกำไร ทำให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งในระยะยาว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 30-50% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 247.34 ล้านบาท มาจากการให้บริการเดิม รวมทั้งการขยายการให้บริการใหม่ๆ ขณะที่วางงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 50-100 ล้านบาท ใช้สำหรับขยายห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ และเครื่องตรวจพันธุกรรม
ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทพร้อมจับมือพันธมิตรมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายการให้บริการใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทโตเท่าตัว ภายใต้จุดแข็งกลุ่ม BGI เจ้าแห่งศาสตร์จีโนมิกส์การถอดรหัสพันธุกรรมระดับโลก และแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง ที่พร้อมเติบโตไปกับอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์ซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคต
ทั้งนี้ BKGI สามารถให้บริการตรวจและคัดกรองพันธุกรรมได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ไปจนถึงวัยชรา รวมถึงการตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ และการตรวจวิเคราะห์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ภายใต้เครื่องหมายการค้า ได้แก่ NIFTY, VISTA, NOVA, BGI-XOME, COLOTECT, SENTIS และ DNALL ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าและผู้ใช้บริการ
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของ BKGI กล่าวว่า การเข้าเทรดในวันแรกได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
“เชื่อว่า BKGI จะเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในอนาคต เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตสูง เห็นได้จากการเติบโตของรายได้ในการให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ของ BKGI ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก ในช่วงปี 2563-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 23.40% ต่อปี และภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีฐานทุนที่พร้อมสนับสนุนให้มีศักยภาพผลักดันการเติบโตได้มากขึ้น” นายสมภพ กล่าว
ทั้งนี้ BKGI ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.67% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งจีนและไทยสมัครใจ Lockup หุ้นส่วนที่ไม่ติดไซเรนพีเรียดตามเกณฑ์ SET ทั้งหมด เป็นเวลา 1 ปี
BKGI ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ของ BKGI เพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยลักษณะการประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 2) การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการตรวจภูมิคุ้มกัน 3) การตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคัดกรองกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ และ 4) การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี
2. ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other Products) เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจ น้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 น้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์