posttoday

WHA ลุย Green Logistics-พลังงานสะอาด ดึง AI ปูพรมสู่ Tech Company สิ้นปี 67

25 มีนาคม 2567

WHA เดินหน้า “Green Logistics” พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ ขยายพลังงานสะอาด ดึง AI ขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสู่เป้าหมาย Tech Company ภายในสิ้นปี 67

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยว่า จากพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ในการสร้าง สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน บริษัทได้ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายภายใต้พันธกิจดังกล่าว ผ่าน 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์, ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล

โดยธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2567 บริษัทเน้น Green Logistics ซึ่งบริษัทจะมีการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ และอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ อาทิ การบริหารยานพาหนะ (Fleet Management) การวางแผนเส้นทาง (Route Optimization) และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Roaming) เป็นต้น คาดว่า Super Driver App พัฒนาแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค.2567 เพื่อมุ่งสู่การสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ 

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในส่วนของปิกอัพและหัวลาก เพิ่มอีก 1,100 คัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่ในปีนี้บริษัทจะมีรายได้เข้ามาทันทีประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และมีกำไรตั้งแต่ปีแรกในปีนี้ จากปี 2566 มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 25 คัน   

ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในปี 2567 เดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญ คือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง Unified Operation Center (UOC) และต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้กับลูกค้าด้วยการให้บริการแบบครบวงจร

สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานปี 2567 ในส่วนของสาธารณูปโภค (น้ำ) บริษัทยังคงเดินหน้านำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Artificial Intelligence (AI) มาสร้างระบบ Smart Water Platform รวมถึง Smart Meter (OCR) ระบบ SCADA และศูนย์ควบคุม UOC ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และมุ่งพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ที่ครบวงจร 

พร้อมนำกระบวนการ Reverse Osmosis (RO) มาใช้เป็นมาตรฐานการจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในนิคมอุตสาหกรรม 

ขณะที่ในส่วนของพลังงาน เน้นพลังงานสะอาด ได้แก่ Solar Rooftop ที่ บริษัท ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.2 เมกะวัตต์ 

Solar Carpark บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยมีพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 7.7 เมกะวัตต์ 

Floating Solar โดยโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ 
 

“โครงการเหล่านี้ เราอยากทำเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้น ต้องการใช้พลังงานทดแทน 100% ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าหลายราย โดยลูกค้าได้ประโยชน์ในส่วนของค่าไฟที่ถูกลง และตอบโจทย์เรื่อง Green Energy ด้วย” 

ขณะเดียวกัน ธุรกิจดิจิทัลในปี 2567 บริษัทเดินหน้าในการนำเทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนองค์กร ทั้ง AI & ML Data Insight, AI Cybersecurity และ Generative AI เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Technology Company ภายในสิ้นปี 2567