เปิดใจ ‘กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์’ รื้อกฎหมายเชือดหุ้นปั่น! ยกระดับตลาดทุน
คำต่อคำ : มือปราบหุ้น "กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับภาระกิจ 15 เดือน "รื้อกฎหมาย-เพิ่มบทลงโทษ-ฟื้นเชื่อมั่น-เพิ่มโพรดักส์-เปิดตลาดใหม่" เชื่อดึงดูดความสนใจและเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ-นักลงทุนไทย
"..ผมมาเป็นประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่ขัดตาทัพ แต่เดิมผมเป็นกรรมการ ตลท.อยู่แล้ว รอบนี้ถือเป็นรอบที่ 4 สมัยที่ 4 ที่เป็น กรรมการ ผมเข้ามาตั้งแต่ปี 2558 เข้าๆออกๆตรงนี้มานานรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ รู้กระบวนการ และได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ เพราะถ้าเป็นคนในจะได้ไม่โดนแทรกแซงจากภายนอก นี่คือที่มาในการดำรงตำแหน่งในครั้งนี้.." ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "โพสต์ทูเดย์" ถึงความเป็นมา
"ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" กล่าวถึงภาระกิจหลังเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ด ตลท. ว่า โจทย์สำคัญที่ถือเป็นการบ้านหนัก คือ 1.การฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น ผมถือเป็นโจทย์สำคัญแรกของตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความเท่าเทียมของผู้ที่ซื้อขายหุ้นในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น High Frequency Trading (HFT) , Robot Trade หรือ Naked Short Selling ซึ่งที่ผ่านมา ตลท.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่กระบวนการขั้นตอนต่างๆอาจต้องกระชับขึ้น อย่างที่ผมถามว่าทำไมต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นใช้ระยะเวลาถึง 4 สัปดาห์ ลดเวลาเหลือ 2 สัปดาห์ได้หรือไม่ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ระบุแต่เป็นวิธีปฏิบัติ ซึ่งเราสามารถทำให้เร็วขึ้นได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นกฎกติกาต่างๆที่ในอดีตเราคุยกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพราะกฎของ ตลท. ต้องไปขออนุญาติกับ ก.ล.ต. ทาง ตลท.จะดำเนินการเองไม่ได้ ตรงจุดนี้ตนเองอยากฝากว่า คนยังแยกไม่ได้ระหว่าง ตลท. กับ ก.ล.ต. ที่มักจะพูดกันว่า "ตลาดไม่ดี ตลาดแย่ แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีอำนาจเลย คนที่มีอำนาจจริงๆคือ ก.ล.ต. และหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ อัยการ และ ศาลฯ" ซึ่ง ตลท. เป็นด่านแรกแค่เป็นเรดาร์ในการตรวจจับ ยกตัวอย่างเช่น ตรวจจับความเร็ว พบคนขับฝ่าไฟแดง เรานำส่งเรื่องไป ถ้าตำรวจไม่ออกใบสั่ง คนขับรถเร็วก็ไม่กลัว ดังนั้นความเชื่อมั่นและความเข้าใจของผู้คนในตลาดทุนยังน้อยอยู่ ซึ่งผมยังแปลกใจ เพราะ ตลท.ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 แต่ ก.ล.ต.มาทีหลัง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพิ่งมีในพ.ศ. 2535 ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มี ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นคนคุม ตลท.
"ตลาดหลักทรัพย์ฯมีบทบาทเป็นตลาด ส่วน ก.ล.ต.มีบทบาทเป็นผู้กำกับเรา เวลามีเรื่องก็โทษตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง ตลท.มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน การไปจับแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของ ก.ล.ต. ซึ่ง ตลท.จะเป็นคนส่งข้อมูลเบื้องต้นให้ ก.ล.ต. จากนั้นทาง ก.ล.ต.จะไปดำเนินการต่อ พร้อมส่งเรื่องในการปรับ หรือใช้อำนาจต่อไป โดยบทบาทหน้าที่แยกกันชัดเจนและเป็นอิสระต่อกัน ทาง ตลท.ไม่สามารถไปกดดันในการเร่งติดตามเรื่องจาก ก.ล.ต.ได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจบทบาทตรงนี้"
ก่อนหน้านี้ ผมดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกฎหมาย ฝ่ายตรวจสอบพบความบกพร่อง เช่น พบการสร้างราคา ปั่นหุ้นเป็นก๊วน เป็นแก๊ง 10-20 คนก็ส่งรายชื่อไปว่าคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยให้ ก.ล.ต.ช่วยเช็คได้หรือไม่ว่าคนกลุ่มนี้มีการปั่นหุ้นจริงหรือไม่ ใช้เวลา 2 ปี บางเรื่อง 3 ปี จนกระทั่งผมเข้ามารอบ 3 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งวันนี้เรามีตัวเลขว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ส่งเรื่องไปแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ล่าสุดเราอยู่ระหว่างทำเรื่องขอ ก.ล.ต. เปิดเผยข้อมูลว่า ตลท.ส่งเรื่องให้ตรวจสอบกี่เปอร์เซ็นต์ และ ดำเนินการไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ และระงับเรื่องไปกี่เปอร์เซ็นต์ คนจะได้รู้
และที่สำคัญมากที่ผมเห็นและได้คุยในบอร์ด ตลท. ก็คือ "ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เร็วและฉับพลัน เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น" คดีที่เร็วที่สุด คือ คดี MORE ขนาดเร็วที่สุด ยังใช้ระยะเวลา 1 ปี ถึงขั้นฟ้อง แต่ศาลฯยังไม่ทราบว่าจะใช้ระยะเวลาอีกกี่ปี แต่อย่างน้อยคดีอั้งยี่ก็จัดเต็ม ซึ่งเกิดจากความรวดเร็วของ ตลท. , โบรกเกอร์ , ก.ล.ต. , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , อัยการ และตำรวจ ถ้าไม่มีเคสของ MORE คงแบบตามฟอร์ม
"สมัยที่ผมเป็นประธานฯได้ส่งเรื่องบอกให้ ตลท.ช่วยเขียนว่ากลุ่มนี้มาอีกแล้ว ครั้งนี้ทำ บริษัท ก. คราวนี้ทำบริษัท ข. มีคนหนึ่งทำ 5 บริษัทปั่นหุ้นแล้วยังลอยนวลอยู่ ซึ่งผมว่ามันไม่ได้ คนพวกนี้ไม่เกรงกลัว เพราะถ้าจับได้ก็โดนปรับแค่นั้น แล้วถ้าจับไม่ได้ก็คือรวย ดังนั้นทำให้คนไม่เชื่อระบบกฎหมาย ทำผิดกฎหมายดีกว่ารวย ผมว่าสิ่งนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ใครทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมได้ขอความร่วมมือจาก ปปง. จึงเป็นที่มาของคดีที่รวดเร็วอย่างกรณี MORE และ STARK เพราะถ้าทำแบบเดิม เราส่ง คุณดู แล้วปล่อยเลย โดยที่ไม่รวมมือกันก็อาจจะไม่เกิดอะไร ที่คุยกันคือถ้าเป็นไปได้ขอแก้กฎหมาย ฟ้องรวดเร็ว ตัดตอนโดยไม่เอาตำรวจมาข้องเกี่ยวได้หรือไม่ ก.ล.ต.ฟ้องเองได้หรือไม่ เราส่งเรื่องไปที่ ก.ล.ต. , อัยการ และไปต่อที่ศาลฯได้เลยหรือไม่"
โจทย์หลักก็คือเราจะเร่งกระบวนการเอาผิดให้เร็วขึ้น แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษผู้ทำผิดให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจริงๆโทษมีหลายแบบ ทั้ง จำคุก เป็นต้น อย่างโทษของเมมเบอร์เราก็จะเพิ่มโทษขายหุ้นเนคเคดชอร์ตไม่มีหุ้น , ขายหุ้น NVDR เราจะลงโทษปรับให้แพงขึ้น บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ในการสกรีนลูกค้า เพราะตลท.เตือนว่า นาย ก.เข้าข่ายกระทำผิด มาตรการคืออะไร ผมต้องลงโทษให้หนักขึ้น คุณต้องดูแลลูกค้าให้ดี
"ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นสำคัญมาก ถ้าเราสามารถจะดำเนินการได้รวดเร็ว เช่น ปปง.อายัดเงินก่อนแล้วค่อยมาพิสูจน์ทีหลัง ก็น่าจะเกรงกลัวการทำผิด ยาแรงเลยอั้งยี่ซ่องโจร เพราะต้องมาพิสูจน์ว่าคุณไม่ผิด ดังนั้นพอจะไปปั่นหุ้นเริ่มเสียว เพราะริบเงินทีเดียวถูกยึดทั้งหมดแล้วมาพิสูจน์เอาว่าไม่เกี่ยวปั่นหุ้น เพราะงั้นเราต้องพยายามสร้างกฎหมายให้คุ้มครอง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องถ้าเราทำถูก เราทำสุจริตจะกลัวอะไร ถ้าเราไม่สุจริตอีกเรื่องหนึ่ง"
อีกอันที่ ตลท.พยายามทำคือ "เครดิตบูโร" กล่าวคือ ถ้ามีลูกค้าไปเปิดบัญชีอีก 10 หลักทรัพย์มีมาร์จิ้นก็จะได้เยอะ ถ้าวันนี้เรามีข้อมูลจะทราบทันทีว่า นาย ก. มีอะไรอย่างไร ซึ่งวันนี้เครดิตบูโรยังไม่มา ก็ต้องแก้กฎหมาย วันนี้ก็ต้อง Inform โบรกเกอร์ว่า นาย ก. ไปเปิดบัญชีที่ไหนบ้างก็ต้องแจ้ง อย่าอ้างว่ากฎหมายแก้ไม่ได้ เพราะกฎหมายมีไว้ทำ มีไว้แก้ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้
"กระบวนการพวกนี้ในระยะสั้นต้องเรียกความเชื่อมั่น นี่คือมาตรการเร่งด่วน คาดว่าน่าจะชัดเจนภายในระยะเวลาราว 3-6 เดือน เพราะผมมารับช่วงต่อ มีวาระ 15 เดือน ผมเป็นกรรมการ ตลท. มาจะครบ 2 ปีในเดือน ส.ค.2567นี้ กรรมการชุดผมมาจาก ก.ล.ต. อายุวาระ 3 ปี ซึ่งผมจะครบกำหนดวาระ 3 ปีในวันที่ 5 สิงหาคม 2568 ซึ่งในทางกฎหมายผมกลับมาต่อวาระได้อีก 3 ปี แต่ผมต้องทำบนสมมุติฐานที่ว่าถ้าผมกลับมาไม่ได้อีก ดังนั้นภายใน 15 เดือนนี้มีหลายเรื่องที่ผมอยากทำอาจจะทำไม่ได้เพราะมีหลายอย่าง แต่อะไรที่ทำได้ให้ทำไปก่อนหรือปูพื้นฐานไปก่อน พูดง่ายๆว่าไปแล้วอย่าให้คนด่า เราทำหน้าที่มากว่า 40 ปี เราคือของจริง ดังนั้นภายใน 15 เดือนนี้ผมคิดว่าจะทำอะไรได้เยอะพอสมควร"
ที่สำคัญ คือ การที่ รมว.คลัง นั่งอยู่ใน ตลท.มาก่อนถือว่าช่วยได้เยอะเพราะท่านเข้าใจ ไม่ต้องพูดเยอะ ท่านทราบอยู่แล้วเพราะท่านเคยรับฟังใน ตลท. ราว 3-4 เดือนท่านทราบประเด็น ดังนั้นคุณพิชัย ท่านเข้าใจ ท่านเป็นคนเก่ง จับประเด็นได้เร็วมาก ได้มีการพูดคุยตลอด
เช็คลิสต์แก๊ง IPO จับเชือดไก่ให้ลิงดู
อีกเรื่องคือ หุ้นไอพีโอ เข้าไปเทรดแล้วราคาต่ำเตี้ยเรี่ยราด หรือพอเข้าไปแล้วก็ทุบหุ้น ตอนนี้ผมกำลังรวบรวมข้อมูลว่าบริษัทพวกนี้ ใครเป็นคนทำไอพีโอ ตั้งราคาแบบนี้ได้อย่างไร ทำไมพี/อี 100 เท่า ซึ่งผมมองว่าราคาขึ้น 10-20%นี่ดีมากแล้ว แต่กลายเป็นว่าราคาพุ่ง 100-200% ต้องจับพวกนี้มา "เชือดไก่ให้ลิงดู"
อย่างไรก็ดี ยังมีคนเข้าใจ ตลท.ผิดเกี่ยวกับการตั้งราคาหุ้นไอพีโอ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ที่ปรึกษาทางการเงิน(FA)ที่เป็นคนตั้งราคา ซึ่งผมกำลังรวบรวมรายชื่อ FA ที่ทำหุ้นแบบนี้มีกี่ราย มีใครบ้าง แล้วมาตรการคือให้ ก.ล.ต. เรียกพบ ให้โทษใบเหลือง ใบแดง
เพิ่มโพรดักส์ใหม่
โจทย์เรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มโพรดักส์ใหม่ๆ ซึ่งก่อนที่คุณพิชัยจะไปท่านได้มอบนโยบายและตลท.ได้ทำแล้วนั่นก็คือ "นำฐานข้อมูล งบการเงินของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดมาวิเคราะห์ด้วย AI แล้วดึงข้อมูลมาว่าบริษัทไหนดีหรือไม่ดี แล้วเปิดเผยข้อมูลกับนักลงทุนแบบเปิดสาธารณะ" โดยที่ ตลท.จะไม่ชี้นำว่าบริษัทนี้ดีหรือไม่ดี นักลงทุนต้องดูเอง เช่น ทำไมบริษัทนี้คนอื่นกำไรแค่ 10% แต่บริษัทนี้กำไร 30% อย่าง STARK มาร์จิ้นขายเส้นลวดทองแดงทั่วโลกกำไรประมาณ 3-5% แต่ STARK กำไรถึง 20% มันไม่เจอการตรวจจับว่ามันผิดปกติ ซึ่ง ตลท.จะพยายามทำให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงเวลาดูงบดุล และจะดีขึ้นไปอีกหาก ตลท.นอกจากจับผิดแล้ว ยังมีข้อมูลเปรียบเทียบว่าบริษัทนี้เมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่หวังว่าจะทำได้เร็วเช่นกัน เพราะวันนี้เราใช้ AI เข้ามาช่วย รวมทั้งใช้ AI ในการตรวจจับพฤติกรรมซึ่งต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่ง ผู้จัดการ ตลท.ได้ดำเนินการบางส่วนแล้วเพียงแต่อาจต้องทำให้เร็วขึ้น พัฒนา ChaTGPT เป็นต้น
ดึงผู้เชี่ยวชาญแนะนำโพรดักส์
การเพิ่มโพรดักส์ใหม่ๆ ซึ่งผมได้คุยกับ ‘จี๊ป ไคลน์’ (Jeep Kline) ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ถือเป็นคนไทยที่เก่งมากๆ เขาอยากทำพวก TECH พวก Health Care / FOOD / Service ซึ่งไทยจะทำพวกชิปแบบ NVDA ทำไม่ได้หรอกประเทศไทยเพราะไม่มีอินฟราสตรัคเจอร์ จะเอาพวกฟอลคอนมาทำที่ไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเอาที่ไทยมีจุดแข็งและเอานักลงทุนต่างประเทศมาลงทุน เช่น ESG สมมุตินำพวก Startup ตั้งตลาดใหม่ที่สามารถจดทะเบียนได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแบบนี้ทำได้ ซึ่งผมเคยคุยกับจี๊ปว่าการนำบริษัทต่างประเทศมาลิสต์ในเมืองไทยติดปัญหาอะไรบ้าง นั่นก็คือ ติดเรื่องกฎหมาย ถ้าจะเอาบริษัทต่างประเทศมาลิตส์ในเมืองไทยทางแบงก์ชาติเอ็กเชนช์คอนโทรลแก้ได้ทีเดียวเพื่อจะให้เมืองไทยเป็นเรจินอล เพราะว่าข้อดีของการมาลิสต์เมืองไทย เรื่อง Geopolitics ปลอดภัย ดังนั้นถ้าติดเรื่องกฎหมายให้เฉพาะบริษัทไทยเท่านั้น เราก็แก้กฎหมายพิเศษเรื่อง Capital Market ระบุเลยว่าลิตส์แบบนี้หุ้นกี่ประเภท หุ้นแบบนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาหุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันแก้ได้ อย่างที่ผมบอกว่าถ้าคุยกับ รมว.คลัง แล้วท่านเห็นด้วย ออกพระราชกำหนดก็เร็ว แต่ถ้าต้องเป็นพระราชบัญญัติก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปีอาจจะช้าไป
"เราดึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องโพรดักส์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับ ESG มาให้คำแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทใหม่ๆของไทยไปลิสต์ที่ต่างประเทศ เรามีตลาด mai ตอบโจทย์ TECH ไม่ได้ เรามีตลาด LiveX แต่ผมอยากสร้างตลาดใหม่ๆที่ตอบโจทย์ สตาร์ทอัพ ดิจิตอล หรือเทรดเป็นโทเคนได้ ผมอยากเห็นในช่วงที่ผมอยู่ 15 เดือนนี้ เราต้องคิดใหญ่ไม่คิดเล็ก"
นอกจากนี้ สิ่งที่ผมอยากทำ คือ จับมือกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย บริษัทจดทะเบียนอีกกว่า 800 บริษัท สร้าง Ecosystem ทั้งหมด สมมุติผมมีกองทุนที่จะมาเทรดบริษัทละ 10 ล้านบาท เงินกองทุนจะมีราวหมื่นล้าน ใครอยากเข้ามาก็ไปลิสต์ทำให้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้คุณก็รู้ว่ากู้เงินแบงก์ไม่ใช่ง่าย ต่อให้ลดดอกเบี้ยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งบริษัทเล็กๆจะไปกู้เงินอะไร หลักประกันมีหรือไม่ ดังนั้น Ecosystem นี้ต้องบอกว่ามีกองทุนใหญ่ไปลงทุนพวกนี้ ถ้าเราไปซื้อกองทุนนี้ กองนี้ก็จะดูแล เพราะถ้าเราไปลงทุนเองเราลงทุนไม่เป็น ถามว่าเหมือน Venture Capital หรือไม่ คำตอบคือใช่ เพียงแต่เราไม่ได้ลงทุนเวนเจอร์แคปฯโดยตรง แต่ให้กองทุนไปลงทุน ซึ่งก็ต้องแก้กฎหมาย บริษัทที่จะเข้ามาไม่ต้องรอกำไร 3 ปีเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น อันนี้ก็มีความเสี่ยงแต่ซื้อลงทุนเพียงนิดหน่อยหาธุรกิจที่ดีในการลงทุน นี่คือความคิดของผมคนเดียวยังไม่ได้ปรึกษาบอร์ด และอันที่จริงสิ่งที่ผมพูดคือสิ่งที่ ตลท.ทำอยู่แล้วไม่ได้ทำอะไรใหม่ เพียงแต่อะไรที่เราจะเริ่มทำแค่นั้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำคือ โพรดักส์ ESG ซึ่งผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของ S (Social) สังคม คนยากไร้ คนจน ความเหลื่อมล้ำ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นและตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดทุนจะช่วยกันอย่างไรบ้าง นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำ รวมถึงการเทรดคาร์บอน อะไรที่เร่งได้ก็จะเร่งทำ
เทรดเท่าเทียม
โจทย์ข้อ 3 คือ สร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น ไม่ว่าเนคเคดชอร์ต หรือมาตรการต่างๆที่ ตลท.ได้จัดทำไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อยากทำที่เขาบอกว่าไม่เท่ากันระหว่างผู้ถือหุ้นกับบิ๊กใช้ Robot Trade หรือใช้ HFT ทำอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดเองยังไม่ได้ปรึกษาใคร นั่นก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ ตลาด CMDF ลงทุนเกี่ยวกับอินฟราสตรัคเจอร์ ให้นักลงทุนเข้ามาใช้ระบบเทรดได้แต่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบ ดังนั้น ตลท.ลงทุนทำระบบให้ก่อนเพื่อให้มีการใช้ระบบในการเทรดเดียวกัน อันนี้คือยังไม่ได้ปรึกษาใคร ต้องดูว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย และโบรกเกอร์เล็กๆจะทำอย่างไร อย่างโบรกเกอร์รายใหญ่เจ้าของมาร์เก็ตแชร์ผูกขาด ผมไม่มีส่วนได้เสียเพราะผมไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ แต่ก็มีโบรกเกอร์อยู่ในบอร์ดก็ย่อมทราบถึงปัญหา
เตรียมเข้าพบ-ชงประเด็นเสนอ "รมว.คลัง"
สิ่งที่จะปรึกษา รมว.คลัง คือ กองทุนเพื่อการเกษียร หรือกองทุนเพื่อการออมระยะยาว กล่าวคือถ้าผมแก่ไปไม่มีใครดูแล จะทำอย่างไร ตอนนั้นทาง ก.ล.ต. , ตลท. และโบรกเกอร์ช่วยกันร่างกฎหมายแล้วนำส่งเรื่องให้สมัยคุณประยุทธ์แต่ถูกปัดตกเพราะไม่ทันเหตุการณ์ ถามว่ากฎหมายที่ว่านี้คืออะไร ง่ายๆคือ เรามีเงินพอสมควรแล้วฝากโบรกเกอร์โดยระบุว่าถ้าผมเป็นอะไรไปให้นำเงินนี้แบ่งให้ลูกหลานในสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ ไม่อยากยกให้ทั้งหมดเพราะอาจจะเอาไปใช้หมด จ่ายเดือนละ 500 บาท หรือ 1,000 บาท หรือผมเป็นคนป่วยช่วยจ่ายค่าหมอให้ผมด้วย เป็นต้น แต่วันนี้กฎหมายคืออะไร ถ้าผมมีเงินอยู่ แล้วผมสมองเสื่อมแต่มีลูกหลานขอศาลฯตั้งเป็นผู้พิทักษ์ผู้อนุบาลแล้วเซ็นต์เช็คเอาเงินผมไปทั้งหมด ผมก็ไม่มีเงิน ดังนั้นถ้ากองทุนประเภทนี้เกิดขึ้น ทรัสต์เกิดขึ้นผู้สูงวัยก็จะได้มีการวางแผนการเงิน ซึ่งการเสนอกฎหมายคงไม่ใช่หน้าที่ของประธาน ตลท. แต่เป็นหน้าที่ของตลาดทุน แต่จะลองปรึกษาท่าน รมว.คลัง ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ได้ผลักดันตลาดหุ้นไทยในทันทีเหมือนกองทุน LTF ที่สามารถบูธตลาดหุ้นได้ทันที แต่เป็นเรื่องการวางแผนการเงินที่สำคัญ
นอกจากนี้ เรื่องที่ FETCO และ ตลท.ทำก็คือเรื่อง "กิโยตินกฎหมาย" การศึกษาใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งผมก็จะประสานกับทางหน่วยงานว่าจะมีการแก้กฎหมายอะไรที่ทำได้เร็ว ดังนั้นกระบวนการความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ทำยังไงคนแก่จะไม่ถูกหลอก การลงทุนที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายให้ความรู้คนได้เรื่อยๆ หรือการสอนหรืออบรมให้ความรู้ของ ตลท.ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี หรือทำหนังสือหรือทำออนไลน์ให้คนได้มีความรู้
"ผมจะไปตามเรื่องมาตรการความเชื่อมั่น การแก้กฎหมาย และโพรดักส์ใหม่ๆ กองทุนใหม่ๆ การนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง(Dual Listing) ผลักดันเรื่องที่ทำอยู่แล้วให้เร็วขึ้น เชื่อว่า 15 เดือนนี้น่าจะเห็นอะไรที่ชัดขึ้น ผมว่าประมาณนี้น่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยคึกคักได้"
คุณสมบัติ "ผู้จัดการ ตลท. คนใหม่" ต้องแบบไหน?
ผมว่าต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ ต้องทำสิ่งใหม่ๆ กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ที่ทำมาแล้วดีก็ทำไปแต่อาจต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ต้องมีวิศัยทัศน์ ซึ่งผู้สมัครผู้จัดการ ตลท.ต้องไปแสดงวิศัยทัศน์ให้กรรมการฟังว่าอยากทำอะไร มีอะไรใหม่ๆที่ท้าทาย โลกที่ท้าทาย โลกที่เปลี่ยนแปลง ตลาดหลักทรัพย์จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ คนสำคัญคือ ผู้บริหาร ตลท. เพราะต้องอยู่ทำหน้าที่นาน 10-20 ปี พวกผมที่เป็นกรรมการมาแล้วก็ไป ดังนั้นผมคิดว่า คณะบริหาร ตลท. สำคัญมาก คือ ตัวหัวและผู้บริหารระดับสูง
เท่าที่ทราบคือมีผู้สมัคร ผู้จัดการ ตลท. จำนวน 8 ท่าน และตามกฎหมายสมัครอายุ 60 ปีแต่เรื่องอายุก็สำคัญ อีกทั้งผมว่าเขาต้องอยู่ ตลท. อย่างน้อย 2 สมัย หรือ 8 ปี เพื่อให้เข้าใจกระบวนการต่างๆ อย่าง ดร.ภากร ทำหน้าที่มา 6 ปีครึ่ง รอบแรกวาระ 4 ปี แล้วต่ออีก 1 วาระ 2ปีครึ่ง
นอกจากนี้ ผู้จัดการคนใหม่ต้องเป็นนักมาร์เก็ตติ้ง ทำงานร่วมกับ โบรกเกอร์ , Stakeholder และต้องทำงานกับ Priority ให้ได้ ที่สำคัญคือต้องมีความกล้าและมีวิศัยทัศน์ที่จะทำสิ่งดีๆ ต้องกล้าเปลี่ยน เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว
มั่นใจแผนงานดึงดูดความสนใจนักลงทุนไทย-ต่างชาติ ?
ผมคิดว่าถ้าเรื่องการมีโพรดักส์ใหม่ๆนักลงทุนต่างชาติมาแน่ เพราะทุกวันนี้โพรดักส์ไทยยังไม่น่าสนใจ ยกเว้นว่าเราจะนำเสนอว่าบริษัทไทยดี เป็น Hidden Gems หน้าที่ของ ตลท.คือต้องไปแสวงหา เพราะบางทีเจ้าของอาจจะไม่สนใจ หรือมีของดีอยู่แล้วแต่เจ้าของอาจไม่รู้ ดังนั้นเราต้องดึงศักยภาพเขาขึ้นมาให้ได้ หรือ Convince ให้บริษัทต่างประเทศและไทยที่ดีๆเข้ามาจดทะเบียนให้ได้
สิ่งที่ผมอยากทำคือให้สิทธิ์ออกเสียงที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผมโฟร์ทหุ้น 40% ผมถือ 60% หรือ ผมถือ 50% แต่โหวตติ้งผม 75% กฎหมายไทยทำได้แต่ ตลท.กฎหมายหลักทรัพย์ทำไม่ได้ แนว"หุ้นบุริมสิทธิ"การทำแบบนี้ทำให้บริษัทดีๆสนใจ ซึ่งในต่างประเทศทำอยู่แล้ว อย่าง หลุยส์ วิตตอง , ESTÉE LAUDER ก็มีการถือคอนโทรลเช่นกัน แต่เมืองไทยทำไม่ได้ ต้องแก้กฎหมาย หรือบริษัทเมืองนอกมาลิสต์ในไทย ไม่ว่าบริษัทแม่หรือบริษัทลูกเข้ามาลิสต์แล้วให้เขาคอนโทรล หากแก้กฎหมายต่างด้าวได้ก็จะมีโพรดักส์ใหม่ๆเข้ามา