ANI แจงฟรีโฟลตต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นปัญหาเชิงเทคนิค ไม่กระทบการดำเนินธุรกิจ
ANI แจง ตลท.ขึ้นเครื่องหมาย CF เหตุฟรีโฟลตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เป็นปัญหาเชิงเทคนิคจากผู้ถือหุ้นใหญ่ล็อกอัพหุ้น 1 ปี และมี Strategic Partner ถือหุ้นเพิ่ม ยันไม่กระทบการดำเนินธุรกิจ พร้อมวางแนวทางเพิ่มสภาพคล่องหุ้น
นางสาว บี เล็ง โก๊ะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ ANI เปิดเผยว่า จากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย CF (Caution Free Float) ในวันนี้ (5 มิ.ย.) เพื่อแจ้งนักลงทุนว่า หุ้นของ ANI มี Free Float หรือสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ทั้งนี้ Free Float ในปัจจุบันที่ 10.47%
โดยกรณีดังกล่าวเกิดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III และ Mr. Thomas Tay Nguen Cheong (โธมัส เทย์ เงียน ชอง) ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 69.1% ไม่สามารถขายหุ้น ANI ที่ถืออยู่ในสัดส่วน 55% ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการรับหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Mandatory Lock up)
ขณะที่อีกส่วนได้ทำสัญญาไม่ขายหุ้น ANI ที่ถืออยู่ในสัดส่วน 14.1% ตามความสมัครใจโดยการทำสัญญาไม่ขายหุ้นกับผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Voluntary Lock up) เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ ANI เข้าซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 14 ธ.ค.2567 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
รวมถึง บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ได้เข้ามาเป็น Strategic Partner และเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น ANI เป็นกว่า 20.1%
อย่างไรก็ตาม การขึ้นเครื่องหมาย CF ดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งเตือนตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับทราบเป็นข้อมูล และการแจ้งเตือนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหรือผลการดำเนินงานของบริษัท โดยในระหว่างที่ขึ้นเครื่องหมาย CF นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้น ANI ได้ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์
ทั้งนี้ บริษัทขอให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นในการเพิ่มสภาพคล่องหุ้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด และยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นสำคัญ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประกอบการเข้าลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Free Float ให้เป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีแผนเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นางสาว บี เล็ง โก๊ะ กล่าวว่า มีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจตัวแทนขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าทางสายการบิน (GSA) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงรายเดียว ปัจจุบันเป็นตัวแทนขายและบริหารพื้นที่ขนส่งสินค้าแก่สายการบินกว่า 20 สายการบิน ใน 8 ประเทศและเขตบริหารเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง จีน มาเลเซีย เป็นต้น และวางแผนขยายธุรกิจ GSA ไปยังประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และจะเพิ่มสัญญา GSA ได้อีกไม่ต่ำกว่า 4 สัญญา ภายในปี 2567
ด้านนายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD กล่าวว่า การเข้าลงทุนและเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นใน ANI เนื่องจากเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจและศักยภาพการเติบโต รวมถึงจะได้รับปัจจัยบวกจากภาพรวมธุรกิจ GSA ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% นับจากปี 2565-2570
โดยบริษัทต้องการลงทุนในระยะยาวใน ANI และพร้อมขยายขอบเขตความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบ Strategic Partner เพื่อนำความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย ผสานความแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการ เพิ่มโอกาสขยายฐานลูกค้าและตอบสนองความต้องการด้านโลจิสติกส์แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย