posttoday

ผ่าเกมหุ้น "SCB" ครึ่งปีหลังรอด-ร่วง ? หลังสารพัดข่าวร้ายรุมเร้า

28 มิถุนายน 2567

"SCB" ในวันที่ถูกโยงธนาคารที่ให้บริการทางการเงินหลักรัฐบาลเมียนมา "ธนาคารไทยพาณิชย์"แจงธุรกรรมปกติ ปัดเอี่ยวค้าอาวุธ ด้านโบรกประเมินสถานการณ์ข่าวปล่อยกู้เมียนมาไร้นัยยะ แต่ปิดโรบินฮู้ดฉุดผลงานครึ่งหลังกว่าพันล้านบาท

     ถือเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีหลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ(Special Rapporteur)ของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระบุว่า มีธนาคารในประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา!!

     วันนี้ "สมาคมธนาคารไทย" รีบออกมายืนยันว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย

    ที่สำคัญ "ธนาคารพาณิชย์ของไทย" มีนโยบายชัดเจน "ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

     ถามว่า ทำไมถึงปรากฎชื่อ "ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)" ??

     อาจเนื่องด้วย SCB เปิดสาขาและให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการไปยังประเทศเมียนมา

     ซึ่ง SCB เร่งชี้แจงข่าวผ่านเว็บไซต์ว่า "ธนาคารได้ตรวจสอบภายในแล้วพบว่าเป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภคและพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ ซึ่งมิได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

     ทั้งนี้ ธนาคารมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานการทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการทำธุรกรรมทุกรายการ"

     อย่างไรก็ดี หลังตกเป็นข่าววานนี้(27 มิถุนายน 2567) ราคาหุ้น SCB ปรับตัวลดลง 2 บาท จากราคาเปิด 106 บาท ลดลงไปต่ำสุดที่ 103 บาทและกลับมาปิดที่ 104 บาท ส่วนวันนี้(28 มิถุนายน 2567) ราคาเปิดการซื้อขายที่ 104 บาท และปรับลดลงแตะระดับ 103 บาท

ปล่อยกู้ไม่กระทบ แต่ปิดโรบินฮู้ดฉุดครึ่งหลัง

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วานนี้มีข่าวเกี่ยวกับธนาคารไทยปล่อยกู้พม่าซื้ออาวุธ ล่าสุด SCB ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าและบริการไปยังประเทศเมียนมา และจากการตรวจสอบภายในพบว่าจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรยังเป็นปกติไม่ได้เกี่ยวกับการค้าอาวุธตามที่ตกเป็นข่าวแต่อยางใด และยืนยันแนวทางดำเนินตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใส

     ขณะที่ประเด็น SCB ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของ “บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV)” ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่บริษัทถือหุ้น 100% โดยจะทำการยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.67 เป็นต้นไปนั้น จากการสอบถามเพิ่มเติมทางฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ SCB ทราบว่าเงินลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ราว 8 พันกว่าล้านบาท โดยที่ผ่านมา 4 ปี ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ขาดทุนมาตลอด ปี 63 ขาดทุน 87.8 ล้านบาท ปี 64 ขาดทุน 1,335.4 ล้านบาท ปี 65 ขาดทุน 1,986.8 ล้านบาท ปี 66 ขาดทุน 2,155.7 ล้านบาท รวม 4 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมกว่า 5,565.8 ล้านบาท ซึ่งรับรู้ขาดทุนเข้าไปทุกปี  ทำให้คาดว่าจะเหลือเงินลงทุนราว 2.5-3 พันล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องบันทึกด้อยค่าในปีนี้ หากปิดกิจการโดยไม่ทำอะไรเลย

     โดยทาง SCB ยังศึกษาดูก่อนว่าจะทำอะไรต่อกับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้บันทึกค่าใช้จ่ายด้อยค่าเงินลงทุนลดลง และการบันทึกค่าใช้จ่าย one off จะลงทั้งหมดใน 3Q67 หรือบางส่วนลงใน 4Q67 คงจะได้คำตอบชัดเจนหลังการประชุม analyst meeting หลังผลประกอบการ 2Q67 ออก ราวปลายเดือนก.ค.นี้ 

     ล่าสุด SCB ออกมาปฏิเสธข่าวปล่อยกู้ดังกล่าวข้างต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นการปิดแอป Robinhood อาจเป็นลบเล็กน้อยในระยะสั้นในปีนี้ แต่ในระยะยาวจะดีขึ้น 

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า 1H67 ขาดทุนจาก Robinhood ยังเข้าเป็นปกติ ซึ่งที่ผ่านมาก็รับรู้ในงบการเงินมาตลอด ไม่น่าจะกระทบอะไร สำหรับ 2H67 ซึ่งหากยังดำเนินการปกติอาจมีขาดทุนเข้ามาอีกราว 1 พันล้านบาท แต่การประกาศปิดแอปดังกล่าวจะทำให้ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ราวครึ่งหนึ่งของยอดเงินลงทุน ณ สิ้นปี 66 ที่ 2.5-3 พันล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้ขาดทุนในงบ 1H67 แล้ว ทำให้คงเหลือเงินลงทุนอีกราว 1.25-1.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะ offset กับขาดทุนปกติของ Robinhood อีกครึ่งปีหลัง 

     นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่า SCB จะนำบริษัทดังกล่าวไปทำธุรกิจอื่นหรือปิดกิจการไปเลย แต่อย่างไรก็ดี มอง worst case หากไม่ทำธุรกิจต่อไป จะมีค่าใช้จ่าย one off จากการเลิกจ้างพนักงาน บวกการด้อยค่าเงินลงทุน ซึ่งน่าจะ offset กันไปพอดี หรืออาจลบอีกเล็กน้อย จึงคาดไม่น่าจะกระทบต่อ SCB อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ และน่าจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการปี 68 เพราะไม่ต้องบันทึกรับรู้ขาดทุนจากแอปดังกล่าวปีละ 2 พันล้านบาทอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ SCB มีผลประกอบการที่ดีขึ้นถึง 2 พันล้านบาท หรือราวเกือบ 5% ของกำไรทั้งปีของ SCB ได้เลย ดังนั้น ยังคงแนะนำ ซื้อลงทุน SCB ราคาเป้าหมาย 126 บาท ยังถือเป็นหุ้นธนาคารที่ยังมีผลประกอบการที่โตต่อเนื่อง และมีปันผลสูงสม่ำเสมอราว 8-10%ต่อปี

 

กราฟเทคนิค

     สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส ระบุว่า หุ้น SCB แกว่ง Sideways ช่วงสั้นมีโอกาสหาฐานต่อจากแท่งเทียน Bearish มองแนวรับ 101 บาท แนวต้าน 106 บาท