จับตา 2 ประธานนักกฎหมาย ล้างบางโจรตลาดทุน
"วิกฤติต้มกบ"เศรษฐกิจซบลากยาว พร้อมแรงกระเพื่อมอันฉาวโฉ่ในตลาดหุ้นไทยที่ไม่หยุด! ฉุดวิกฤติศรัทธาดิ่งเหว แต่สังเวียนตลาดทุนไทยฮึดสู้และกำลังพลิกโฉมครั้งใหญ่ของสองนักกฎหมายมือทอง "ประธาน ก.ล.ต. - ตลท." มือปราบหุ้นปั่น ล้างบางวงจรอุบาทว์เพื่อกู้วิกฤติ
เศรษฐกิจไทยซบเซาต่อเนื่องและยาวนานตามแรงโน้มถ่วงของเศรษฐกิจโลกและความท้าทายภายในประเทศที่ดูเหมือนจะคิดจะทำอะไรในทันทีนั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ ด้วยทุกสิ่งล้วนต้องใช้เงินก้อนมหาศาลในการขับเคลื่อน!
เศรษฐกิจที่ว่าแย่แล้วกลับถูกโหมซัดด้วยกระแสข่าวอันฉาวโฉ่ในฝั่ง "ตลาดทุน" นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นโบรกเกอร์จากรายการซื้อหุ้น ‘อภิมุข บำรุงวงศ์’ จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ราคา 2.90 บาท มูลค่า 4,350 ล้านบาท โดยใช้วงเงินมาร์จิ้นมีหุ้น "บริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE" ค้ำประกัน
ตามมาด้วย คดีฉ้อโกงและตกแต่งบัญชีครั้งใหญ่ของ "บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK" แทบไม่น่าเชื่อว่าขนาดบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับท็อปยังพลาดกับเคสนี้
ขณะที่ บริษัทจดทะเบียนเริ่มขาดสภาพคล่องจนผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงนำหุ้นไปค้ำประกันจนถูก Force Sell เริ่มตั้งแต่ปี 2566 ที่เกิดกับ JKN - JMART ไล่เรียงมาและต่อเนื่องในปี 2567 ที่เกิดขึ้นกับ ITD - SABUY - SBNEXT - NEX - EA แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ก็ถ้าหากกฎเกณฑ์ที่มีใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีช่องโหว่ให้เล่นแร่แปรธาตุ วิกฤติศรัทธาก็คงไม่เกิดขึ้น ใช่หรือไม่
เมื่อ..ความเชื่อมั่นหดหาย!!
"ตลาดหุ้นไทย" ที่เคยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEA) กำลังจะเสียตำแหน่งให้แก่ "มาเลเซีย และ สิงคโปร์" หากอ้างอิงข้อมูลจากบลูมเบิร์ก พบว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย 749,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดอันดับ 1 ในช่วงปลายปี 2564 , ตลาดหุ้นไทย 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ , ตลาดหุ้นสิงคโปร์ 426,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ ตลาดหุ้นมาเลเซีย 422,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? แน่นอนว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและกฎหมาย บวกเม็ดเงินท่องเที่ยวเข้ามาน้อยกว่าคาด รวมถึงปัญหาเรื่องการประพฤติโดยมิชอบขององค์กร ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยถูกเทขาย 14% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
นี่คือคำตอบที่ว่า "ทำไมเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยถึงหายไป" ดังจะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในปีนี้เฉียด 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วหันไปเพิ่มการลงทุนในมาเลเซีย ราว 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ถึงเวลา "รื้อ" ทุกสิ่ง
นี่คือโจทย์ใหญ่ของตลาดทุนในการกอบกู้ความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องถึงขั้น "รื้อระบบ รื้อกฎหมาย รื้อกฎเกณฑ์ และขั้นตอนต่างๆที่ชักช้า" ให้สามารถ "ทำทันที" ให้รวดเร็วต่อสถานการณ์เพื่อปกป้องนักลงทุนไทย
จึงบังเกิดปรากฎการณ์การรวมพลังมือปราบมารหุ้นปั่นหุ้นโกงมือทอง ทั้งในฝั่งของผู้คุมกฎ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดตัวหัวหอกสำคัญ นั่นก็คือ “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) มาดำรงตำแหน่ง "ประธานกรรมการ ก.ล.ต.คนใหม่" ที่เข้ามาแทน “พิชิต อัคราทิตย์” ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา
ซึ่ง “ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์” มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ประกาศนียบัตรเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฏหมายแห่งเนติบัณฑิต , Barrister-at-Law of Gray’s Inn (เนติบัณฑิตอังกฤษ) และ LL.B. (Second Class Honors, Upper Division) University of Wales, United Kingdom
"นโยบายเร่งด่วนของ ก.ล.ต.คือ"สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน"ด้วยการปฏิรูปกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต.นับตั้งแต่ร้องทุกข์กล่าวโทษจนสิ้นสุดของคดี“ให้เร็วขึ้นเป็นหลักเดือน”จากที่ผ่านมาใช้เวลาเป็นปี พร้อมเร่งสะสางคดีที่คั่งค้างให้จบภายใน 3-6 เดือนปีนี้
นอกจากนี้ยังมี"ส่งเสริมตลาดทุนไทย"ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ โดยเฉพาะ“โทเคนดิจิทัล”ประเภทอินเวสท์เมนต์โทเคนที่มีระบบเข้าช่วยขยายการระดมทุน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจของไทย ทั้งเรื่องคาร์บอนเครดิตที่อาจส่งเสริมให้มีระบบการสร้างมูลค่า และการซื้อขายในวงกว้าง และนี่คือภาระกิจที่ต้องทำ"
สองแรงผสานกู้วิกฤติ
ขณะที่ในฝั่งของ "ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)" ไม่น้อยหน้าเพราะมีผู้คุมแพลตฟอร์ม อย่าง “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ที่ได้ชื่อว่า "มือปราบหุ้นปั่น" ด้วยการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทยแห่งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 29, นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (LL.M.) ประเทศแคนาดา และนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ ประเภทวิชาการ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
พร้อมมือขวาฝีมือดีอย่าง "อัสสเดช คงสิริ" ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ที่ถูกแต่งตั้งและเตรียมเข้ารับตำแหน่งในเร็วๆนี้ เมื่อสองแรงผู้ที่รู้รอบและเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนผนึกกำลัง ต้องเกิดสิ่งที่ดีขึ้นแน่นอน
"มาตรการที่ต้องทำทันที คือ การลงโทษพวกปั่นหุ้นให้รวดเร็วขึ้น และ พวกที่โกงงบดุล ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯจะใช้ข้อมูลเทคโนโลยี AI มาตรวจสอบงบการเงิน โดยจะมีการจัดตั้ง "ทีมพิเศษ"เข้ามาดำเนินการโดยเฉพาะ หากบริษัทใดน่าสงสัย ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมอนิเตอร์ พร้อมกับเตือนนักลงทุน ผมเชื่อว่าถ้าเราประกาศใช้มาตรการนี้ขึ้นมาไอ้พวกปั่นหุ้นกลัวแน่ เพราะผมจะยึดเงินก่อน ถ้า ปปง. ยึดเงินก่อนคุณก็เหนื่อยแล้ว"
หากถามว่า เราคาดหวังจากผู้คุมกฎและแพลตฟอร์มที่เป็นนักกฎหมายทั้งสองท่านได้หรือไม่ ? ตอบทันทีว่า "คาดหวังได้" แต่อาจต้องให้เวลาในการร่วมมือและตกผลึกร่วมกันระหว่าง "ก.ล.ต. และ ตลท." เอาให้ชัดว่าสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคืออะไร ? และควรเพิ่มอำนาจบทบาทหน้าที่ในส่วนไหนเป็นพิเศษหรือไม่ ?
ที่สำคัญหากสามารถ "ยึดทรัพย์ ยึดเงินทันที" โดยที่ยังไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ น่าจะช่วยป้องกันการกระทำที่ผิดและปกป้องนักลงทุนได้ เพื่อที่จะไม่เกิดสุภาษิตที่ว่า "วัวหายล้อมคอก" ได้อีก