posttoday

เปิดวิชั่น "ดร.คงกระพัน" ชูธุรกิจต้องดี-ขนาดใหญ่-มีจุดแข็ง สู่เป้า Net Zero

07 สิงหาคม 2567

มิชชั่นสำคัญ "ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" ซีอีโอ PTT เน้นคัด "ธุรกิจต้องดี - ขนาดใหญ่ - มีจุดแข็ง" มุ่งสู่เป้าหมายพลังงานรักษ์โลก ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อม "พลิกฟื้นธุรกิจ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน"

     ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แบบก้าวกระโดดพุ่งเป้าหมายเข้าสู่โลกธุรกิจยุคใหม่ที่เทคโนโลยีไม่หยุดนิ่งและมุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคตอันใกล้ นี่คือโจทย์ที่บริษัทที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพลังงานของประเทศนั่นก็คือ "บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT" ให้ความสำคัญนับจากนี้

     "บทบาทของ ปตท. ในอนาคตจะเน้นไปที่การเป็นผู้นำด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและการใช้พลังงานสะอาด ทั้งการเก็บคาร์บอนและการผลิตไฮโดรเจน อีกทั้งการมุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอนและปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยการทำงานร่วมกับภาครัฐและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างระบบพลังงานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับประเทศ" คำยืนยันอันหนักแน่นของ "ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

      เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นโจทย์สำคัญตามแนวทางของ ปตท. ที่ยึดมั่นปฏิบัติเสมอมา ขณะที่เรื่องต้นทุนที่ต้องแข่งขันได้ก็สำคัญเช่นกัน ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯการดำเนินธุรกิจจึงจะต้องมีกำไรที่เหมาะสม เพราะน้อยไปก็ไม่ดีและมากไปก็คงไม่ได้ ดังนั้นต้องบริหารทุกภาคส่วนให้ดีและสมดุลที่สุด

เปิดวิชั่น \"ดร.คงกระพัน\" ชูธุรกิจต้องดี-ขนาดใหญ่-มีจุดแข็ง สู่เป้า Net Zero

     นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ปตท. ต้องมีการปรับแผนกลยุทธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจโลกที่เน้นด้านพลังงานสะอาด เสริมสร้างธุรกิจที่สอดรับกับสังคมที่ดีขึ้น พร้อมๆ กับลดธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ "ธุรกิจไหนดีก็มีการขยาย อันไหนไม่ดีก็มีการปรับลด" โดย ปตท. มีหลักการพิจารณา 3 แนวทางสำคัญ นั่นก็คือ

     ข้อแรก คือ "ธุรกิจต้องดี" หมายความว่าต้องเป็นธุรกิจที่ดี มีความน่าสนใจ ส่งเสริมและเกื้อหนุนธุรกิจ ตลอดจนสร้างผลตอบแทนในการลงทุนที่ดี

     ข้อสอง "ขนาดธุรกิจต้องใหญ่" ต้องเป็นธุรกิจที่มีขนาดที่เหมาะสมกับ ปตท. 

     สุดท้าย ข้อที่สาม คือ "ธุรกิจต้องมีจุดแข็ง" ต้องมีความได้เปรียบทางธุรกิจ และมีความเหมาะสมกับ ปตท. 

     "ทั้ง 3 แนวทางคือหัวใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนธุรกิจและการตั้งงบลงทุน เพราะต้องคำนึงว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ หรือหากมีพาร์ทเนอร์เข้ามาทำแบบไหนดีกว่ากัน ซึ่ง ปตท. ได้มีการนำเสนอทิศทางและกลยุทธ์ใหม่ ต่อ บอร์ด ปตท. ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และหลังจากนั้นน่าจะเห็นความชัดเจนของแผนงานต่างๆ ภายในช่วงเดือน กันยายน หรือ ตุลาคมปีนี้ 
     สิ่งที่ ปตท. เร่งดำเนินการทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อสร้างการเติบโตคู่กับสังคมไทย พร้อมกับเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน นี่คือเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายที่จะต้องบริหารและขับเคลื่อนองค์กรอย่างสมดุล แต่ก็ต้องทำให้ได้เช่นกัน"

เปิดวิชั่น \"ดร.คงกระพัน\" ชูธุรกิจต้องดี-ขนาดใหญ่-มีจุดแข็ง สู่เป้า Net Zero

     "ดร.คงกระพัน" เล่าอีกว่า มิชชั่นของ ปตท. จากนี้อีก 5-10 ปีข้างหน้า เราคงมุ่งเน้นเรื่องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นสำคัญ เนื่องด้วยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมันชัดเจนหลังจากโลกประสบกับภาวะสงครามความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากนี้จึงต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนถูกลง ช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่นกัน นั่นจึงทำให้ ปตท. หันไปลงทุนในทิศทางใหม่ 

     แต่ขณะนี้มองว่าจะต้องกลับมาสู่ธุรกิจที่ถนัด นั่นก็คือ "ธุรกิจไฮโดรคาร์บอน" ที่ครอบคลุม ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมี และธุรกิจไฟฟ้า แต่ครั้นจะทำแบบเดิม คงทำไม่ได้ ด้วยโลกเข้าสู่สภาวะโลกร้อน ดังนั้นเราจึงต้องทำธุรกิจรูปแบบเดิมควบคู่กับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เปิดวิชั่น \"ดร.คงกระพัน\" ชูธุรกิจต้องดี-ขนาดใหญ่-มีจุดแข็ง สู่เป้า Net Zero

     แม้ปัจจุบัน ปตท. มีธุรกิจ Non-hydrocarbon อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV  แต่ ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่มปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของ บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย

     ขณะที่ธุรกิจบางส่วนที่ ปตท. ลงทุนไปแล้วอาจพิจารณาไม่ลงทุนต่อแล้วให้พาร์ทเนอร์เป็นผู้ลงทุน หรือบางธุรกิจอาจให้ SME เป็นผู้ลงทุนซึ่งอาจจะทำได้ดีกว่า ปตท. ดำเนินการเอง รวมถึงบริษัทลูกหลายแห่งอาจเติบโตเกินกว่าที่จะลงทุนเฉพาะในประเทศไทยแต่มีโอกาสเติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืนได้ ทั้ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 

     และด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 อาจวิเคราะห์ได้ยาก เนื่องด้วยโลกยังคงเกิดสงครามในทุกที่ แม้กลุ่มโอเปกสามารถร่วมมือกันกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับลดลงมาเยอะจากปัจจุบัน และคงไม่สูงแบบช่วงที่มีการสู้รบเช่นกัน ปตท. จึงจะต้องวางแผนธุรกิจในกรอบที่ราคาน้ำมันมีทั้งสูงและต่ำ แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้คำนึง คือ การประหยัดพลังงานเพราะราคาควบคุมไม่ได้ เนื่องจากเป็นราคาตลาดโลกทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน 

     จุดยืนชัดเจน

     "ปตท. คือ บริษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งคําว่าพลังงานมีหลายรูปแบบ มีวิวัฒนาการจากฟอสซิล สู่ไฟฟ้า จากนั้นอาจจะเป็นไฮโดรเจน ซึ่งเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานคือหัวใจสำคัญของประเทศ อีกทั้งความมั่นคงด้านต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้นั่นก็คือส่วนที่จะช่วยสร้างให้ประเทศไทยแข็งแรงเช่นกัน ที่สำคัญเมื่อแข็งแรงแล้วต้องยั่งยืนด้วยเพราะหากแข็งแรงแต่ในระยะสั้นมันก็อาจจะไม่ยั่งยืน รวมถึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ ทั้งหมดนั้น ปตท. ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ต้องทําทุกทางให้แข็งแกร่งสรรสร้างสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการเติบโตสู่ระดับโลกได้อย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำความจริงที่ว่า ปตท. คือพลังงานของชาติอย่างแท้จริง"

Thailand Web Stat