posttoday

จับตาฟันด์โฟลว์ช่วงที่เหลือปี 67 หลังได้นายก 8 วัน ต่างชาติซื้อหุ้นไทย 7 วัน

28 สิงหาคม 2567

การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น-เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว-เงินบาทแข็งค่า เอื้อฟันด์โฟลว์ไหลเข้าในช่วงที่เหลือของปี 67 พร้อมเปิดสถิติหลังได้นายกฯ แพทองธาร 8 วัน ต่างชาติซื้อหุ้นไทยถึง 7 วันทำการ มูลค่ารวม 8,198.49 ล้านบาท

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-27 ส.ค.2567) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 124,292.67 ล้านบาท   

หากแยกเป็นรายเดือน พบว่า ใน 4 เดือนแรกของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติสลับกันซื้อขายหุ้นไทย โดยในเดือน ม.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 30,874.11 ล้านบาท เดือน ก.พ.2567 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,862.14 ล้านบาท เดือน มี.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,314.24 ล้านบาท และเดือน เม.ย.2567 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,913.66 ล้านบาท

หลังจากนั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิติดต่อกัน 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.2567 โดยเดือน พ.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 16,747.07 ล้านบาท เดือน มิ.ย.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 34,871.88 ล้านบาท และเดือน ก.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,752.06 ล้านบาท 

พอเข้าเดือน ส.ค.2567 ภาพรวมในช่วงวันที่ 1-15 ส.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ 1,530.42 ล้านบาท 

แต่วันที่ 16 ส.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ 319 เสียง ให้ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ในวันเดียวกันนั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 334.60 ล้านบาท และนับจากวันที่ 16 ส.ค.2567 จนถึงวันที่ 27 ส.ค.2567 พบว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 7 ใน 8 วันทำการ มูลค่ารวม 8,198.49 ล้านบาท 

จับตาฟันด์โฟลว์ช่วงที่เหลือปี 67 หลังได้นายก 8 วัน ต่างชาติซื้อหุ้นไทย 7 วัน

ส่วนทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ในช่วงที่เหลือของปี 2567 “วทัญ จิตต์สมนึก” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ให้ความเห็นกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า มีโอกาสเห็นการไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าการเมืองไทยเริ่มดูมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและมีเสียงในสภาค่อนข้างสูง 

ประกอบกับการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ “แพทองธาร ชินวัตร” เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะให้น้ำหนักในทางบวกมากขึ้น จากการมีครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจและเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน 

สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 1/2567 และหลังจากนี้การขยายตัวจะค่อยๆ เร่งขึ้นจากการลงทุนภาครัฐและท่องเที่ยว 

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนันค่าเงินบาทแข็งค่าและกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้า

ด้าน ฝ่ายวิจัยฯ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงสัปดาห์นี้ คงเป็นเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติของว่าที่ รัฐมนตรี ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ประเมินว่าการนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ น่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ตามด้วยพิธีการต่างๆ คือ การรอโปรดเกล้าฯ ลงมา การถวายสัตย์ปฏิญาณ และสุดท้ายก่อนปฎิบัติหน้าที่ คือ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงนครึ่งหลังของเดือน ก.ย.2567

สำหรับสถานการณ์การเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ล่าสุด มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแถลง ออกมาว่าไม่มีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมรัฐบาล ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าจะมีการส่งเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ระบุจะพยายามรวมรวบเสียงสมาชิกในสภาฯ ให้มากที่สุด เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล 

ฝ่ายวิจัยฯ ไม่ได้กังวลกับประเด็นดังกล่าวมากนัก เนื่องจากพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดดังกล่าว ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย + พรรคภูมิใจไทย ที่มีคะแนนเสียงรวมกัน 211 เสียง จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักไปจากเดิมมากนัก และน่าจะเห็นช่วงเวลาของการดำเนินการนโยบายต่างๆ คล้ายเดิม

ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังมีโอกาสเห็นการเติบโตแบบขึ้นบันไดในช่วงครึ่งหลังปี 2567 หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามกระบวนการที่คาดหมายไว้ โดยรัฐบาลรักษาการได้เตรียมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสำรองไว้แล้ว จากงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 และงบประมาณปี 2568 อีกราว 3.24 แสนล้านบาท คาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา อาทิ 

โครงการ DIGITAL WALLET ที่ล่าสุดมีแนวทางว่าจะจัดสรรเม็ดเงินให้กับกลุ่มเปราะบาง-ผู้พิการก่อน 1 หมื่นบาท/ราย ภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 ส่วนเฟสที่ 2 จะเป็นการจัดสรรให้กับผู้ลงทะเบียน 30 ล้านคน ที่ไม่ซ้ำกับกลุ่มแรก โดยหุ้นที่คาดได้ประโยชน์ คือ MTC, BAM, TIDLOR, TU, TFG, GFPT, CPALL, CPAXT และ BJC