ทรัมป์ชนะ! "เซียนมี่" ผ่ายุทธศาสตร์ประเทศไทย ฝ่าวิกฤติสงครามการค้า
"เซียนมี่ - ทิวา ชินธาดาพงศ์" กางยุทธศาสตร์ไทยรับมือ"ยุคทรัมป์ 2.0"ชี้สงครามการค้ารอบนี้ไม่ง่าย ตั้งกำแพงภาษีสูงอาจเจ็บเอง เกมลงทุนเน้นถือยาว 10 ปี โหนกระแส "การย้ายฐานการผลิต-ดาต้าเซ็นเตอร์-คลาวด์-อิเล็กทรอนิกส์-ศัลยกรรม" ขยายตัวดีต่อเนื่อง
ทรัมป์ 2.0
การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" คว้าชัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สอง พรรค Republicant คุมสภาบน-ล่าง ได้อย่างเบ็จเสร็จ สร้างความหวาดหวั่นสงครามการค้าครั้งที่ 2 อาจจะทวีความรุนแรงกว่าครั้งแรก ด้วยนโยบายชูโรง "แผนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่ม 60% และ ประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพิ่ม 10-20%"
"เซียนมี่" ทิวา ชินธาดาพงศ์ นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า (Value Investor หรือ VI) เผยมุมมองกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า การที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ถือว่าไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก แม้ในเบื้องต้นอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ากดดัน แต่เชื่อว่าหลังจากนั้นตลาดหุ้นจะกลับมาสะท้อนตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น
ถามว่า "สงครามเศรษฐกิจโลก" จุดติดตลอด 4 ปีนี้หรือไม่
ส่วนตัวมองต่างออกไป ด้วยตลอด 4 ปีจากนี้(พ.ศ.2568-2571)ในวาระของทรัมป์ ผมคิดว่าในช่วง 1-2 ปีแรกจะเห็นภาพการตั้งกําแพงภาษี การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่รุนแรง จากนั้นในช่วง 2-3 ปีหลังจะเห็นภาพการต่อรองระหว่างสหรัฐฯกับจีน
ภาพ TRADE WAR ดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายกับช่วงที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ตรงกับปีคริสต์ศักราช 2016 ที่การส่งออกระหว่างสหรัฐฯและจีนพึ่งพากันน้อยลงเพียงแต่มีการเจรจาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
"ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ เน้นหาผลประโยชน์เข้าประเทศและหาฐานเสียงให้คนนิยม วันนี้ถ้าผมจะทะเลาะกับจีนเพิ่มขึ้น ผมไม่ได้คะแนนเพิ่มแต่จะกลายเป็นเสียคะแนน ลองคิดว่าถ้าต้องนำเข้าสินค้าจากจีนแต่กลับขึ้นภาษีสูงๆอะไรจะเกิดขึ้น อย่าลืมว่าสหรัฐไม่ได้แข็งแรง และ 2 ใน 3 ของธุรกิจอเมริกากลายเป็นธุรกิจบริการ ต้องนําเข้าเกือบทุกสิ่งทุกอย่างจากทุกคน ถ้าตั้งกำแพงภาษีสูงๆ คนสหรัฐต้องจ่ายแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่มีใครทนได้ และใครเจ็บกว่ากัน ภาพไม่ได้ง่ายขนาดนั้น"
"ไทย" จำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่ ?
จริงๆเราไม่ควรเลือกข้าง เพราะว่าถ้าเราเลือกข้าง เราเหนื่อยแน่นอน แต่หากดูสถานการณ์เหมือนกําลังบังคับให้เราต้องเลือกว่าจะอยู่ฝั่งไหน ซึ่งหน้าที่ของเราคือ "ยื้อ" ทุกวิธีที่ไม่ต้องเลือก อย่าลืมว่าไทยค้าขายกับจีนและอเมริกาค่อนข้างสูง ดังนั้นไทยสามารถทําตัวเป็นกลางได้
ขณะที่ "โครงการดาต้าเซ็นเตอร์" ด้วยความเป็นแผนระยะยาว และการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยไม่ใช่คิดเพียงวันสองวัน แน่นอนว่าต้องคิดมาดี คิดมานานถึงตัดสินใจ ดังนั้นไม่น่าจะมีอะไรมาทำให้ไม่เป็นไปตามแผน เพราะไทยถือเป็นศูนย์กลางที่ดีในการเป็นดาต้าเชื่อมไปยังประเทศต่างๆได้ บวกกับมีความมั่นคงด้านพลังงานค่อนข้างสูง
ไทยสู้ศึกสงครามเศรษฐกิจ
การวางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยถือเป็นความสำคัญอบ่างมาก ต้องวาดภาพให้ชัดเจนว่าจะไปยืนจุดไหน ซึ่งในมุมมองส่วนตัวเห็นจุดแข็งที่ไทยทำได้ดีและควรโฟกัส คือ "บริการ (Service)" ภาพต่อไปประเทศคงต้องเป็นงานบริการ 50% หรือ 2 ใน 3 ธุรกิจในระยะยาว ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของงานบริการก็คือ การให้บริการที่เหนือความคาดหมาย หรือมากกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้ สร้างจุดแข็งให้ไทยผ่านพ้นการแข่งขันเดือดในอนาคตได้ และถือว่าเหนือกว่าเทคโนโลยี AI ที่ทําได้เพียงตามต้องการหรือตามคำสั่งเท่านั้น
ทางรอด! เกมเศรษฐกิจ การลงทุน
โหนกระแสประเด็นบวก ทั้ง "การย้ายฐานการผลิต" ของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่พูดถึงในช่วง 5-6 เดือนก่อนหน้านี้ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมได้อานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว แต่ในบางอุตสากรรมถือว่าอันตรายมาก บางอุตสากรรมพอไปได้ อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ , อุปกรณ์ไอที มองว่ามีอนาคต
อีกทั้งอุตสากรรมที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์ ถือเป็นเมกะเทรนด์ระยะยาว มีโอกาสเติบโตในอนาคต ส่วนอุตสาหกรรมที่มองว่าผ่านจุดสูงสุดแล้ว เช่น รถยนต์ , อสังหาฯ นับวันยอดขายลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อกับความต้องการขาย แต่ผ่านธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อที่จะพิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่ กลุ่มอุตสาหกรรมลักษณะนี้อาจต้องหลีกเลี่ยง
และสเต็ปถัดไปคิดว่ารัฐบาลต้องเร่งเรื่อง "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" พร้อมกับ "ปลดล็อคการท่องเที่ยว , ต่างชาติซื้ออสังหา" หากสามารถปลดล็อคเรื่องพวกนี้ได้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นกลับมา เพราะอย่าลืมว่าไทยต้องดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุน อย่าง ออสเตรเลีย ต่างชาติสามารถซื้อบ้านได้แต่หากต้องการขายต้องขายคืนให้คนออสเตรเลีย ทําให้ไม่เกิดการปั่นราคา นี่คือแนวทางที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้และต้องรีบปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
กลยุทธ์การลงทุน ส่วนตัวไม่ได้ดูที่ตัวเลขทางการเงิน ส่วนใหญ่ดูแนวโน้มธุรกิจว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีคนใช้บริการมากขึ้นหรือไม่ อย่างเช่น ศัลยกรรม วันนี้มีคนทําศัลยกรรมเท่าไหร่และในอีก 5 ปีคนทําศัลยกรรมเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองเรื่อง Beauty Privileges ว่ามีจริง ความหน้าตาดีมีชัย นั่นคือจุดเทิร์นนิ่งพ้อยท์ที่ธุรกิจโตต่อ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับ AI , อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) , อุปกรณ์ไอที เป็นต้นถือว่ามีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
"อยากให้นักลงทุนมองระยะยาว ประเทศไทยยังมีเสน่ห์และน่าสนใจ การถือลงทุนระยะยาว 10 ปีข้างหน้ายังพอได้ แต่ไม่ได้หวังรวยเร็วแบบเมื่อก่อน สมมุติถือลงทุน 10 ปีหวังผลตอบแทน 10-15% ถือว่าไม่ได้แย่ ถ้าเก่งๆทําได้ 15% เงินโตขึ้น 4 เท่า ถือหุ้น 10 ตัวในกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี, อุปกรณ์ไอที, ดาต้าเซ็นเตอร์ , อิเล็กทรอนิกส์ที่กําลังจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานนิคมอุตสากรรม รวมถึง ศัลยกรรมความงาม เป็นต้น ดูตามสิ่งที่เชื่อว่ากําลังจะโตในอนาคต"
ตลท.ชี้เลือกตั้งสหรัฐชัดดึงฟันด์โฟลว์เข้า-เปิดทางต่างชาติระดมทุน
เทรดวอร์มาแน่! ชงรัฐบาลเร่งเคลียร์หนี้เสีย-SME-เปิดประเทศรับมือเต็มสูบ
4 กูรู "หุ้น-ทองคำ-คริปโท" ผ่าเกมลงทุน เลือกตั้งสหรัฐฯ "ทรัมป์ - แฮร์ริส"