คำต่อคำ: "กิตติรัตน์" กระทุ้งแบงก์หั่นดอกเบี้ย-ทบทวนค่าเทรดหุ้น-ชอร์ตเซล
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 9 กล่าวในงานเสวนา “50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯกับความท้าทายในยุคสมัย” ว่า ความท้าทายของตลาดหุ้นปัจจุบันคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคาดหวังการฟื้นตัว แต่ด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นมีปัจจัยหลายตัวที่ส่งผลกระทบไม่ใช่ว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ที่จะดูแลทุกปัจจัยเพราะมีปัจจัยที่ควบคุมได้และคุมไม่ได้ทั้งภายในและภายนอก
โอกาส "หุ้นไทย" ออกจากทศวรรษที่หายไป ?
คําว่า “The Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” ถูกใช้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ซึ่งญี่ปุ่นก้าวออกจากคำว่า The Lost Decade เมื่อประมาณ 5 ปีกว่าตอนที่คุณคุโรดะ ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีเข้ามารับหน้าที่ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งคุณคุโรดะยึดหลักนโยบายในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินเยนอ่อนค่าเพื่อสามารถแข่งขันได้ในการผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อให้การเดินทางเข้าท่องเที่ยวในญี่ปุ่นถูกลงจากในยุคที่ค่าเงินเยนแข็ง ดังนั้นในนโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสําคัญที่จะทําให้ประเทศออกจาก Lost Decade ได้
มองค่าฟีหุ้นถูกเกิน ?
ส่วนตัวมองว่าค่าธรรมเนียมเทรดหุ้นขั้นต่ำ เนื่องจากมองว่าค่าธรรมเนียมในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป
ไทยควรห้ามชอร์ตเซลเหมือนเกาหลี หรือไม่ ?
ผมเหมือนวัตถุโบราณทางการเงิน ซึ่งในยุคผมไม่มีการขายชอร์ต (Short Sell) ก็ไม่ตาย ซึ่งการมีชอร์ตเซลเป็นเรื่องที่ดีได้ ฉะนั้นถ้าการมีชอร์ตเซลล์นำไปสู่ความฉงนสงสัย แต่การจะระงับมันเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เกิดความไม่ฉงนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง และคําว่า Naked Short Selling หรือว่าการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นเป็นหลักการ เพราะกลัวว่าขายแล้วส่งมอบไม่ได้
แต่หลักการนั้นคิดขึ้นมาในยุคหนึ่งที่ยังไม่มีบริการพิเศษว่าใครอยากจะชอร์ตเซลเข้ามาใช้บริการยืมได้ เรามีให้ทุกคนได้ยืมอย่างมากมาย ดังนั้นเมื่อรูปแบบเปลี่ยนไป การจะทบทวนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์เอเชีย การที่เลือกระงับยับยั้งชอร์ตเซลเป็นการชั่วคราวคงมีเหตุผล ซึ่งผมเข้าใจว่าผู้บริหารของเราได้บินไปคุยกับเขา และซักถามเขาแล้วว่ามีเหตุผลดีอย่างไร
คิดใหม่ ทำใหม่ ฟื้นเศรษฐกิจ
ในฐานะที่เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีต ส่วนตัวค่อนข้างห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเต็มทศวรรษ ดังนั้นถ้าหากไม่แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังจะกลายเป็นประเทศที่คนจบการศึกษาใหม่ไม่มีงานทํา คนที่มีงานทําอยู่แล้วถ้าเกิดเจอการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอาจจะต้องสูญเสียงาน หรือคนที่มีรายได้ต่างๆในปัจจุบันในค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอาจไม่สามารถที่จะชําระหนี้ต่างๆได้กลายเป็นปัญหาพัวพันดึงเศรษฐกิจให้ให้ตกต่ำลงไปอีก
ดังนั้นข้อเสนอแนะ คือ หากต้องการผลลัพธ์ใหม่ต้อง คิดใหม่ ทําใหม่ ใช้คําว่า "คิดใหม่ ทําใหม่" ไม่ได้หมายความว่าคาดหวังกับนโยบายการคลัง นโยบายการเงินเท่านั้น แต่จําเป็นต้องทําเรื่องต่างๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมแทบจะทุกแง่มุมในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการเป็นเรื่องที่ต้องทํา
"ในอดีตดูเหมือนเราจะโต้เถียงกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของฉัน เรื่องนี้คนไม่เกี่ยวหรือเรื่องนี้เป็นเรื่องของผม ผมไม่ทําเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องผม ผมว่าขณะนี้เราต้องร่วมกันระดมสมองแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการที่เราต้องยอมรับว่าทําแบบเดิมๆมันนํามาสู่ภาวะปัญหาแบบนี้ การที่จะแตกต่างไปจากเดิม หมายถึงทั้งระดับประเทศ ระดับนโยบายทั้งระดับผู้ประกอบการในทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด ตัวอย่างเช่น ภาคเกษตร ผลผลิตต่อไร่ของข้าวเปลือกของเราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่เราภาคภูมิใจยังอยู่ที่เดิม เมื่อ 25-30 ปีที่แล้ว แต่ประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นไปถึงเกือบเท่าตัวแล้วก็ประเทศคู่แข่งอื่นเขาก็เพิ่มกันทั้งนั้นนะครับเราไม่เพิ่มเลยเนี่ยเราก็เป็นปัญหา ดังนั้นต้องร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ทุกๆฝ่ายที่กําลังเกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจ เรามาเกี่ยงกันไม่ได้ หรือโทษกันไม่ได้ นี่คือแง่มุมของผม"
ถามว่า คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% เหมาะสมหรือไม่ ?
การตัดสินใจของกรรมการนโยบายการเงินวานนี้มีเสียงเอกฉันท์ถึง 7 เสียง เพราะฉะนั้นเราต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน ในที่ประชุมผมอยากเห็นคําอธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจดังกล่าวให้ละเอียดละออเพราะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องได้และเป็นการตัดสินใจที่ดี ดังนั้นเพียงแต่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนั้น แต่ว่าอันที่มันสําคัญมากกว่านั้น คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆที่มันมีอยู่ในระบบ เชื่อว่าควรจะลดลงกว่านี้ได้บ้างไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเพื่อการเกษตรต่างๆ
"ดอกเบี้ยที่มันลดลงจะเป็นภาระที่เบาลงสําหรับผู้ที่มีหนี้ และหวังว่าดอกเบี้ยลดลงจะนําไปสู่การที่เขาจะสามารถชําระเงินต้นได้ดีขึ้น หนี้เสีย หรือ NPL จะไม่ลุกลาม"