ย้อนสถิติผลตอบแทนหุ้นกลุ่มไหนเป็นบวก-เป็นลบ หลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 เดือน
เปิดผลตอบแทนย้อนหลัง 6 ครั้งที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มไหนเป็นบวก-เป็นลบ หลังจากปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 1 เดือน
หลังจากบรรดาผู้ใช้แรงงานรอคอยมาเป็นช่วงระยะเวลานานพอสมควร ล่าสุดวานนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2567 ที่ได้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7-55 บาท เป็นอัตราวันละ 337-400 บาท เดิมอัตราวันละ 330-370 บาท หรือเฉลี่ย 2.9% แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป ดังนี้
1.กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
2. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5)
4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 2.0%
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ คาดว่าจะช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มองเป็น SENTIMENT เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มการแพทย์ (HELTH) , กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN), กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR), กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในครั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะลดแรงกดดันต่อกลุ่มหุ้นที่ UNDERPERFORM ตลาด อาทิ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) อาทิ CK, STECON, STPI เป็นต้น
ทั้งนี้ จากสถิติในช่วงเวลา 1 เดือน หลังมีการประกาศขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ทั้ง 6 รอบที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยรายกลุ่ม เป็นดังนี้
- กลุ่มการแพทย์ (HELTH) +7.2%
- กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) +6.3%
- กลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต (INSUR) +4.5%
- กลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) +2.8%
- กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) +2.7%
- กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) +1.5%
- กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) +1.4%
- กลุ่มพาณิชย์ (COMM) +1.4%
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) +1.3%
- กลุ่มยานยนต์ (AUTO) +1.3%
- กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) +1.2%
- กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) +1.1%
- กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (TRANS) +0.8%
- กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) +0.6%
- กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) +0.4%
- กลุ่มธนาคาร (BANK) -0.3%
- กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS) -1.0%
- กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (COMMAT) -1.4%
บล.ทรีนิตี้ ประเมินว่า จะเป็นผลบวกต่อกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไม่มากก็น้อย ซึ่งในอดีต Sector ที่มักปรับตัวตอบรับต่อประเด็นดังกล่าวได้ดีที่สุด ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งยังคงเป็นหุ้น 2 กลุ่มที่แนะนำ Overweight ต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/2568 จากมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนต่อเนื่อง