posttoday

"ปฏิรูปภาษีไทย" โอกาส หรือ ความเสี่ยง ? หุ้นไทย

30 ธันวาคม 2567

"ปฏิรูปภาษีไทย" โอกาสเพิ่มรายได้ภาครัฐและภาระประชาชน "กิตติรัตน์ ณ ระนอง"แนะคิดให้รอบคอบ หากขึ้นจริงต้องชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนทราบชัดเจน ด้าน บล.ลิเบอเรเตอร์ ประเมินผลกระทบ "ดี-ร้าย" ภาษีบริษัทข้ามชาติ 15% กดดันบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่

KEY

POINTS

  • "ปฏิรูปภาษีไทย" โอกาสเพิ่มรายได้ภาครัฐและภาระประชาชน
  • "กิตติรัตน์"แนะคิดให้รอบคอบ พร้อมแจงรายละเอียดประชาชนทราบชัดเจน
  • บล.ลิเบอเรเตอร์ ประเมินผลกระทบ "ดี-ร้าย" ภาษีบริษัทข้ามชาติ 15% กดดันบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ 

ปฏิรูประบบภาษีโลก สู่ ปฏิรูปภาษีไทย! 

ภายหลังจาก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic  Co-operation and Development - OECD) เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ในอัตรา 15% โดยมีประเทศสมาชิกจำนวนมากเข้าร่วมข้อตกลงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2564 

โดยภาษีที่จัดเก็บกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน 750 ล้านยูโร เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (Tax Competition) ดึงดูดการลงทุน และป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ นับเป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งสำคัญของโลก!

ล่าสุดในปีพ.ศ. 2567 กฎหมายเกี่ยวกับ GMT เริ่มมีผลบังคับใช้ในหลายประเทศ ทั้ง เวียดนาม, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี และออสเตรเลีย การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดภาษีส่วนเพิ่มที่มีสาระสำคัญต่อบริษัทรายใหญ่

"ประเทศไทย" ในฐานะหนึ่งในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD จึงต้องเร่งปรับกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับกฎระเบียบภาษีโลกเช่นกัน ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “ร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม” เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามแนวทาง GMT คาดกฎหมายมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2568 พร้อมมีผลบังคับใช้ในปี 2569 สร้างเม็ดเงินให้กับรัฐราว 10,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ภาครัฐยังศึกษาแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่เช่นกัน ทั้ง 1) การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่ 7% , 2) ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15% และ 3) ปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35% เป็นอัตราคงที่ 15% แม้ล่าสุดยังไม่มีบทสรุปออกมาชัดเจนแต่ถือเป็นประเด็นร้อนที่สังคมต่างจับจ้องเช่นกัน

ถามว่า ทำไม "ไทย" ต้อง "ปฏิรูปภาษี" ?

"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ให้มุมมองว่า "ภาษี" เป็นทั้งแหล่งรายได้ของรัฐ และ ภาระของผู้จ่าย เป็นกลไกในการปรับแต่งพฤติกรรมของผู้จ่าย ดังนั้น "การที่จะทบทวนโครงสร้างภาษีอยู่เสมอเป็นเรื่องที่มีประโยชน์" 

ทีนี้คําว่า "ทบทวน" แปลว่า ถึงเวลาจะทำก็ทำเลย ฉะนั้นเวลาที่จะคิดกันเรื่องภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการปรับขึ้นภาษีมักจะเป็นความลับขั้นสุด จนกระทั่งเกิดความมั่นใจแล้วค่อยบอก อย่างในช่วงที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในช่วงปี 2555-2557 ในยุคนั้นปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่และสุรา 2 ครั้ง และการที่จะดูให้รอบคอบ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเสนอผ่านรองอธิบดี เพราะเราเป็นคนคุมนโยบาย เราต้องแน่ใจและต้องเก็บเป็นความลับ เพราะหากทราบว่าจะมีการปรับภาษีจะเกิดการตุนสินค้าและเกิดการเก็งกําไรสินค้าเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อทุกอย่างประกาศชัดเจนในทันทีจึงไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น โดยใช้มติ ครม. คือ พระราชกฤษฎีกาเท่านั้น

ดังนั้น คําตอบเรื่องภาษี คือ "คิดให้ดีๆ" อย่างละเอียด ภาษีอะไรควรหรือไม่ควร อัตราภาษีเท่าไหร่ดูให้รอบคอบ ปรึกษากับคนที่อยู่ในแวดวงที่รักษาความลับได้ อย่าง ภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ไม่มีทางเป็นไปได้ เดิมทีไทยใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 4% มาตั้งแต่ต้น จากนั้นจึงขยับเป็น 7% หลังวิกฤติต้มยํากุ้ง ซึ่งทุกปีจะมีกระแสข่าวว่า VAT จะขยับเป็น 10% มาตลอด การปรับขึ้น 15% จึงเกิดขึ้นไม่ได้ 

ขณะเดียวกัน การปรับภาษีย่อมกระทบความรู้สึกของประชาชนที่เป็นผู้จ่าย เป็นภาระของคนไทย ดังนั้นโดยหลักการถ้าในมุมมองส่วนตัว หากจำเป็นต้องปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม มองว่าการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% หรือ 0.50% ได้หรือไม่ แล้วการปรับขึ้นภาษีเหล่านั้นต้องสามารถสื่อสารให้กับประชาชนทราบชัดเจนด้วยว่าจะได้เงินกลับมาจำนวนเท่าไหร่และจะนำเงินไปทําอะไรอย่างไรบ้าง

ผลกระทบ "ดี - ร้าย" 

"นารี อภิเศวตกานต์" นักวิเคราะห์พื้นฐาน นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในมากกว่า 130 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม OECD ที่จะเข้าไปสู่ระบบการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อความเท่าเทียมด้านจัดเก็บภาษี 15% ช่วยให้การแข่งขันในตลาดเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทต่างชาติอาจย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า ซึ่งที่ผ่านมามีบางประเทศเริ่มใช้มาตรฐานภาษีใหม่ อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนไทยคาดว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีใหม่ในปี 2568

"เงื่อนไข"การจัดเก็บภาษีคือ
ข้อแรก ต้องเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้มากกว่า 20,000 ล้านยูโรต่อปี
ข้อสอง คือ มีผลกําไรมากกว่า 10% ของรายได้ในประเทศนั้น 
และสุดท้าย คือ รายได้ในประเทศนั้นๆไม่น้อยกว่า 1 ล้านยูโร หรือราว 38 ล้านบาทต่อปี 

หากพิจารณา "ข้อดี" คือ โอกาสที่ไทยจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้สูงที่เข้าเงื่อนไข ซึ่งอาจจะไม่เคยถูกเก็บภาษีในระดับที่เหมาะสมมาก่อน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาในประเทศ นั่นหมายความว่าจากนี้บริษัทต่างๆต้องจ่ายภาษีในอัตราเท่ากันที่ระดับ 15% ตามที่กำหนดในมาตรฐานใหม่ 

ขณะที่ "ผลกระทบ" ย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆที่ก่อนหน้านี้อาจจ่ายภาษีต่ำกว่าระดับ 15% อาทิ DELTA ที่อาจต้องเผชิญกับการเก็บภาษีที่สูงขึ้น รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับผลกระทบ รวมถึง TU เช่นกัน

ส่วน กลุ่ม ปตท. และ CPF อาจต้องดูในรายละเอียดการค้าขายในแต่ละประเทศ เนื่องด้วยทั้งสองบริษัทมีการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงในบางประเทศจึงประเมินภาพรวมไม่ชัดว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร ขณะที่ BGRIM มีการติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายและมาตรการบรรเทาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบในปีหน้าเช่นกัน

"ประเทศไทย เป็นประเทศที่เน้นให้คนมาลงทุน หากภาษีไม่ดึงดูดหรือว่าเท่ากับประเทศอื่น เราจะมีอะไรมาดึงให้คนสนใจเข้ามาลงทุน คงต้องรอดูนโยบายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างไร อย่าง บีโอไอจะเสนอแนวทางภาษีที่ถูกเก็บเพิ่ม หรือมีวิธีอะไรเพื่อคืนกลับให้กับผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เราจะสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆอย่างไร ซึ่งต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป"

 

 

คลัง เร่งเครื่อง "เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ" ให้ทันบังคับใช้ ปีภาษี68

ผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือภาษีทุกมิติ หลังไทยเป็นสมาชิก OECD