posttoday

PCE เปิด 5 กลยุทธ์ปี 68 ดันรายได้พุ่ง 3 หมื่นล้าน ผนึกพันธมิตรลุยโอลีโอเคมีคอล

19 มกราคม 2568

PCE เปิด 5 กลยุทธ์ธุรกิจปี 68 ดันรายได้พุ่ง 15-20% แตะ 3 หมื่นล้านบาท เล็งผนึกพันธมิตรต่างประเทศ ลุยต่อยอด “โอลีโอเคมีคอล” ดึงสารประกอบจาก CPKO-CPO เป็นวัตถุดิบทำ “ช็อกโกแลต-ยางสังเคราะห์” จับราคาปาล์มพุ่ง รับ “ทรัมป์” รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

นายพรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาท เติบโต 15-20% จากปีก่อน โดยบริษัทวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าในธุรกิจการสกัดและการกลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขยายเป็น Bio Complex เช่น ลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการน้ำเสีย รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

1.บริษัทวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 90 ตัน/ชม. เป็น 135 ตัน/ชม. ขยายกำลังการผลิตด้วยการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จาก 300 ตัน/วัน เป็น 700 ตัน/วัน ตลอดจนเน้นผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และมีแผนลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อให้การสกัดน้ำมันปาล์มมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้งบลงทุนที่วางไว้ 1,000 ล้านบาท ในปีนี้ 
    
2.ขยายน้ำมันสำหรับบริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 3.ส่งน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว (Used Cooking Oil) ให้กับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประมาณ 5,000 ตัน/เดือน 

4.การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์มที่บริษัทมีอยู่ เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยสัดส่วนการเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตัน จากเดิม 15,000 ตัน และ 5.บริษัทวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มไปยังญี่ปุ่น ตั้งเป้าหมายมากกว่า 100,000 ตัน/ปี

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองอัตราการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน 3% (ข้อมูลจากกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์) 

“ปี 2568 มีแนวโน้มว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีน และอินเดียยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เราจะขยายกำลังการผลิต เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้” นายพรพิพัฒน์ กล่าว 

ขณะที่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทยังมีแผนพัฒนาน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง (High Margin Products) มากขึ้น ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก รวมทั้งจับมือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) จากต่างประเทศร่วมต่อยอดโอลีโอเคมีคอลเป็นวัตถุดิบ โดยเงินลงทุนเริ่มต้น 1,500 ล้านบาท และลงทุนสูงสุด 4,000-5,000 ล้านบาท 

โดยแบ่งเป็น 2 ผลิตภัณฑ์ คือ 1.น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) โดยดึงสารประกอบไปทำช็อกโกแลต และ Coconut Butter 2.น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) โดยดึงสารประกอบ เพื่อนำไปผสมยางสังเคราะห์ และโฟมทำโซฟา

ขณะเดียวกัน PCE ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญด้าน ESG ซึ่งมีโครงการส่งเสริมการนำน้ำมันพืชใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำน้ำมันเก่า 2 ขวดมาแลกเป็นน้ำมันใหม่ 1 ขวด รวมถึงโครงการรวมพลังสร้างปาล์มน้ำมันไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยเป็นการร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐ 

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังคงยึดนโยบายขยายขอบเขตธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนระยะยาวผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการควบคุมความเสี่ยงในธุรกิจสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์ม ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเทรดดิ้งเป็นพิเศษ ด้วยการพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงที่ซับซ้อนจากราคาพลังงาน กฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ส่วนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ คาดว่า จากนโยบาย America First และจากสถิติในอดีต ทรัมป์ 1.0 ที่เกิดสงครามการค้า จะส่งผลให้ราคาปาล์มปรับตัวเพิ่มขึ้น