posttoday

21 หุ้นเด่น รับประโยชน์นโยบายจัดตั้ง Financial Hub

23 มกราคม 2568

กางรายชื่อ 21 หุ้นเด่น 5 กลุ่มธุรกิจ รับประโยชน์จากนโยบายจัดตั้ง Financial Hub ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจหลายด้านในระยะกลาง-ยาว

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (FINANCIAL HUB) เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวที โลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคาดว่าจะนำโครงการดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าต้นเดือน ก.พ.2568

โดยธุรกิจเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดให้เข้ามาลงทุน และตั้งบริษัทในไทย คือ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง 

ทั้งนี้ มีข้อกฎเกณฑ์ว่า ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ นอกประเทศ (NON-RESIDENT) เท่านั้น (ทั้งนี้จะอนุญาตสามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณีที่กำหนดไว้ คือ เปิดช่องร่วมทุนผู้ประกอบการไทย)

อย่างไรก็ตาม ไทยในปัจจุบันค่อนข้างมีอัตราภาษีธุรกิจด้านการเงินต่างๆ ที่สูงกว่าศูนย์กลางทางการเงินประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ ดูไบ เป็นต้น สะท้อนว่าเพื่อทําให้อัตราภาษีของไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ไทยอาจต้องลดภาษีอย่างมีนัยฯ ให้แก่ผู้ ประกอบธุรกิจเป้าหมาย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินได้มากขึ้น

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าประเด็นดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริงและมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน ได้แก่ ดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย, ทําให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทํางานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย, เกิดการจ้างงานในประเทศ และเกิดการ ถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย 

สำหรับหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ คือ

  • หุ้นกลุ่มนิคม, หุ้นลงทุนเทคฯ ได้แก่ AMATA, WHA, AIT, INSET
  • หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว และออฟฟิศ ได้แก่ CENTEL, MINT, ERW, AWC
  • หุ้นกลุ่มการเงิน ได้แก่ KTB, BBL, KBANK, TISCO
  • หุ้นอุปโภค-บริโภค ได้แก่ CPALL, DOHOME, BJC, CBG, MTC, SAWAD

บล.กรุงศรี ระบุว่า การดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท โดยตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น ทั้งนี้จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้

1.ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้

2.ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้

3.ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้

4.ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้

5.ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

โดยประเมินเป็นบวกต่อเศรษฐกิจระยะกลาง-ยาว จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น การมีสถาบันการเงินต่างประเทศรองรับธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงการขยายขอบเขตบริการทางการเงินคนไทยออกไปต่างประเทศ

หุ้นที่ได้รับผลบวก ได้แก่

  • กลุ่มธนาคารในส่วนธุรกรรมการลงทุน-การเงินในประเทศโดยรวมจะเพิ่มขึ้น เน้นหุ้นธนาคารใหญ่ KBANK, SCB, BBL
  • หุ้นนิคม (การผลักดัน Financial Hub ส่วนหนึ่งคาดมีผลเป้าหมายดึง FDI)
  • กลุ่ม Digital Tech Consult อาทิ BE8, BBIK ที่มีโอกาสได้งานเกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลสถาบันการเงินต่างประเทศที่ให้ความสนใจเข้ามาเพิ่มเติม