ThaiBMA ไร้กังวลภาษีทรัมป์ฉุดยอดออกหุ้นกู้ คงเป้า 8.5-9 แสนล้าน

03 เมษายน 2568

ThaiBMA ไร้กังวลภาษีทรัมป์ กระทบเอกชนออกหุ้นกู้ และเหตุแผ่นดินไหว มีปัจจัยดอกเบี้ยปรับตัวลงเร็วกว่าคาดหนุน คงเป้ายอดออกหุ้นกู้ปีนี้ 8.5-9 แสนล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ยังคงยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไว้ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท หลังจากไตรมาส 1/2568 ที่มีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวไปแล้ว 203,486 ล้านบาท ลดลง 1.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade มีการออกมากกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yield มีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy, Property และ Finance 

ประกอบกับในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2568 มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดทั้งสิ้น 686,004ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade ในสัดส่วน 86% และหุ้นกู้ High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปถึงไม่มีเรตติ้ง ในสัดส่วน 14% ของหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดในระยะเวลาดังกล่าว 

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่ได้รับผลกระทบ สามารถออกหุ้นกู้ได้เพิ่ม สะท้อนจากในไตรมาส 1/2568 กลุ่มอสังหาฯ ยังออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2568 มีหุ้นกู้ระยะยาว กลุ่มอสังหาฯ ครบกำหนด มูลค่ารวม 121,054 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปีที่มีมูลค่ารวม 686,004 ล้านบาท

“แม้ปัจจุบันมีความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ ซึ่งไม่กังวลมในประเด็นนี้ เพราะมองว่าไม่ได้กระทบทางตรง และผู้ออกหุ้นกู้ได้ผ่านมาหลายวิกฤตแล้ว แต่ต้องติดตามสถานกาณ์ต่อไป รวมไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ยังมีปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวลงเร็วกว่าคาด อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้ผู้ออกบางส่วนมีแรงจูงใจให้ออกหุ้นกู้เร็วขึ้น หรือเพิ่มวงเงินการออกมากขึ้น โดยยังคงเป้ายอดหุ้นกู้ใหม่ในปี 2568 ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท” นางสาวอริยา กล่าว 

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเป็นสำคัญ

สำหรับผลการสำรวจคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่าคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปราว 1-2 ครั้ง รวม 0.25-0.50% ลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% จากปัจจุบันที่ 2.00% ซึ่งการปรับลด 2 ครั้งในปีนี้ รองรับนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษีไทย 36%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1/2568 มีการปรับตัวในทิศทางขาลงโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลักจากที่กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง 31-35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2568 ของหุ้นกู้อันดับเครดิตต่างๆ ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA  AA  A และ BBB+ ปรับตัวลดลง26-52 bps. มาอยู่ที่ระดับ 2.29%  2.63%  3.01% และ  4.31% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1/2568

กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาส 1/2568 เป็นการซื้อสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 10,297 ล้านบาท โดยเป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือน ม.ค. ก่อนพลิกกลับมาเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือน ก.พ. และ มี.ค. รวม 22,286 ล้านบาท

หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 8.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.4 ปี ลดลงจาก 8.7 ปี เมื่อสิ้นปี 2567

Thailand Web Stat