
ยื้อไม่หยุด! “ชัยวัฒน์” เมินเสียงเตือน ลุย SAF ต่อแม้ทุนจม
โครงการหน่วยผลิตเชื้อเพลงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ของ "บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ BCP" มูลค่าหมื่นล้านบาทถูกจุดเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ถูกตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ ซัพพลายเออร์คือใคร กลุ่มลูกค้า กระทั่งโครงการอาจถึงขั้นขาดทุน
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องด่วน พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวันนี้(4 เม.ย.2568)เพื่อชี้แจงทุกประเด็น "ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า ผมเพิ่งรู้ว่ามีข่าวใหญ่กว่าทรัมป์ขึ้นภาษีก็คือข่าว SAF
คําถามหนึ่งที่ถูกถามมาตลอดว่า ทําไมบางจากถึงสร้างโครงการ SAF ? , SAF คืออะไร ? แล้วทําไมต้องลงทุน ผมคิดว่ามีพลังงานหลายอย่างที่ไม่สามารถทดแทนเรื่องพลังงานอื่นๆ
เมื่อวานผมเพิ่งบินกลับมาถึงกรุงเทพประมาณ 4 ทุ่มกว่าโดยสายการบินแห่งหนึ่งบอกว่าระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินห้ามใช้พาวเวอร์แบงชาร์จมือถือ ซึ่งพาวเวอร์แบงเครื่องเล็กนิดเดียวยังใช้บนเครื่องบินไม่ได้เลย แล้วเครื่องบินมันจะขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ได้อย่างไร ขณะที่ไฮโดรเจนก็ยิ่งไกลไป ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เป็นคําตอบในการลดโลกร้อนก็คือเรื่องที่ว่าเราจะผสมไบโอฟิล ซึ่งทํามาจากพืชหมุนเวียนเข้าไปในฟอสซิลได้หรือเปล่าเหมือนกับที่ทําไม่ว่าจะเป็น B3 B5 หรือ B7 หรือ E10 E20 E85 เป็นไปได้หรือเปล่า ซึ่งได้พิสูจน์ว่าสามารถทําได้
มันเป็นคําตอบว่าในอนาคตจะมีการบินกันเยอะ ซึ่งในที่ประชุมที่เจนีวาบอกว่าการบินโลกในปีที่ผ่านมา มีคนนั่งเครื่องบิน 6,000 ล้านคน คาดว่าจะมีคนบินเพิ่มขึ้นทศวรรษละ 12,000 ล้านคน เพราะฉะนั้นมันจะมีการบริโภคน้ํามันเครื่องบินเยอะมาก เราจะลดได้ยังไง วิธีที่จะลดโลกร้อนก็คือคุณจะต้องมีการผสมน้ำมันหมุนเวียนในฟอสซิล ซึ่งบางจากมองว่านี่คือเทคโนโลยีในอนาคต นั่นคือที่มาในการตัดสินใจลงทุน
ซึ่งไม่ได้ตัดสินใจตามแฟชั่น หรือตามเทรนด์ แต่ที่ลงทุนเพราะคิดว่าเรามีประสบการณ์พอสมควร เราเริ่มระงับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วหลังต้มยํากุ้งนิดเดียว หรือไม่ก็ในช่วงต้มยำกุ้ง 2540-2541 เพราะฉะนั้นประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้ ผมคิดว่าเรามีเยอะพอสมควร บางจากทำ B2 B3 เป็นรายแรก ในเมื่อเราทำ B2 B3 ได้ เราก็ทำ SAF ได้เช่นกัน
ที่สำคัญที่สุดคือ โรงกลั่นหลังการอัพเกรด มีการปรับผลิตภัณฑ์ เรามองว่าจะมีต้นทุนที่แข่งขันได้ เพราะว่าเรามี access hydrogen ซึ่งไฮโดรเจนจะเป็นตัวหลักที่ทําให้พวกที่เป็นโมเลกุลสกปรกที่อยู่ในน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วถูกกำจัดออกไป ซึ่งเรามีอยู่ และผมคิดว่าต้นทุนเราน่าจะต่ำกว่ามากพอสมควร และเราไม่ต้องไปทําโรงงานผลิตไฮโดรเจนด้วย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งจากโรงกลั่นของเรา ทั้งเงินลงทุนแล้วก็ต้นทุนการดําเนินงานน่าจะแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากบอกคือ "ทั่วโลก ในทุกประเทศโปรโมทเรื่องของการสร้างโรง SAF" อย่างใน "สหรัฐฯ" ทุกๆลิตรที่ขายทางรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุน 3 บาทต่อลิตร , "ญี่ปุ่น" ทุกๆลิตรที่ขาย รัฐบาลให้เงิน 7 บาทต่อลิตร ที่เก่งสุดน่าจะเป็น "จีน" ให้การสนับสนุนเยอะมากและห้ามส่งออกน้ำมันพืชใช้แล้ว ทําให้ตอนนี้มีการแข่งขันในระดับหนึ่ง
นี่เป็นสิ่งที่หลายประเทศสนับสนุนให้ Go Green แล้วก็มีเงินอุดหนุน (subsidy) ซึ่งบ้านเรายังไม่ค่อยมี subsidy ในส่วนนี้ถ้ามีก็จะช่วยทําให้ความสามารถในการแข่งขันจะดีขึ้น
ปัญหา "ดีมานด์-ซัพพลาย"
ในแง่ของดีมานด์ซัพพลาย อยากให้เห็นว่าหลายประเทศเริ่มมีดีมานด์ โดยเฉพาะ EU และสิงคโปร์ แน่นอนพอทรัมป์ถอนตัวไปทําให้หลายประเทศมีการเช็คอัพจะเห็นว่าจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วตอนที่เราทํากับวันนี้มันมีการเปลี่ยนแปลง มีการดีเลย์ล่าช้า 2ปีบ้าง 4ปีบ้าง แต่สิ่งที่จะเห็นแน่ๆคือว่า หลังจากปี 2030 ซัพพลายจะไม่พอ เอาสัก 60% ของดีมานด์ ถ้าทุกคนใช้ SAF 5% ผมคิดว่าหลังปี 2030 ภาพตรงนี้จะเคลียร์ชัดเจน ซึ่งระหว่างนี้อย่างที่บอกว่าเมื่อไหร่ที่มีการให้เงินอุดหนุน แนวโน้มส่วนต่างราคาปลายปีดีขึ้น ปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นเสมอ
"กำลังผลิต 1 ล้านลิตร บางจากมีซัพพลายเออร์รายใหญ่ 4-5 ราย และย่อยอีก 4-5 ราย ในเบื้องต้นมากกว่า 50% ที่หาในประเทศ ตอนนี้ผลิตในสต็อกได้ 25 ล้านลิตรแล้ว ถ้ารันจริงจะได้ราว 80% จากนั้นค่อยเพิ่มกำลังผลิตได้ตามเป้าหมาย"
ความคืบหน้าโครงการ
วันนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 96% จากนี้จะมีการทดสอบระบบทยอยเพิ่มระดับการผลิต (Ramp-up) อีกสักระยะหนึ่ง คาดว่าจะเริ่มเข้าไปเดินเครื่องในช่วงปลายไตรมาส 2/2568 หรือต้นไตรมาส 3/2568 ในเบื้องต้นบริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย SAF กับลูกค้าหลักแล้ว และรับจ้างการกลั่น (Tolling) อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติม
ทั้งนี้ตัวโรงงานได้ออกแบบให้ขายในประเทศ 100% หลังจากปี 2030 โดยตัวเลขปี 2019 ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 20 ล้านลิตร ดังนั้น 5% คือ 1 ล้านลิตร จึงเป็นที่มาว่าจะสร้างวันละ 1 ล้านลิตร ซึ่งตอนนี้จะต้องคุยเรื่องของการหาน้ำมันใช้แล้ว ระหว่างนี้อาจจะส่งออก และคุยกับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก ร่วมกับหาธุรกิจเพราะบางจากรับจ้างกลั่นเอาผลิตภัณฑ์มากลั่นและคิดเฉพาะค่ากลั่น ดังนั้น ช่วง 4-5 ปี จึงมีเวลาหาวัตถุดิบในประเทศ
แจงข่าวขาดทุน ?
เรามีการวางแผนค่อนข้างเยอะ แปลกใจว่ามีข่าวออกมาว่าขาดทุน ตั้งแต่ยังไม่เปิดโรงเลย ก็ไม่แน่ใจว่าวัตถุประสงค์คืออะไรในการตีข่าว ในการให้ข่าว จริงๆต้องบอกว่าข่าว ถ้าดูเนื้อหาผมไม่แน่ใจว่าตัวเนื้อข่าวมีการวิเคราะห์อะไรหรือไม่ หุ้นในตลาดกระทบค่อนข้างเยอะ ข่าวลักษณะอย่างนี้ผมคิดว่าไม่สร้างสรรค์ ฝากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ช่วยดูข่าวที่ทำให้มีคลาดเคลื่อน ขอความกรุณาอย่าเสี้ยมเพราะตนไม่ต้องการชนกับใคร อะไรที่ไม่ใช่ก็พร้อมชี้แจงให้เข้าใจชัดเจนและอยากขอความกรุณาสื่อด้วยว่าแจงข้อมูลที่เป็นความจริง ผมไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร ถือโอกาสมาชี้แจงและทำความเข้าใจ
สรุปโครงการ SAF มีกำไรหรือไม่ ?
ยืนยันว่าไม่มีขาดทุนแน่นอน ไม่รู้ตัวเลขมาจากไหน กระบวนการตรงนี้ เขามาจ้างกลั่นเขาจ่ายค่าจ้างกลั่นสูงกว่าการผลิตเหมือนประเมินค่าการกลั่นที่เปลี่ยนทุกวัน มั่นใจว่ากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)จะเป็นบวก
ถามว่า..จะคืนทุนเมื่อไหร่ ?
จากเดิมคิดว่าโครงการจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี แต่หลายประเทศเลื่อนออกไปก็อาจจะไม่เป็นไปตามแผนจึงอาจจะคืนทุนใน 5-7 ปี ส่วนราคา SAF ตอนนี้อยู่ที่ 48-50 บาทต่อลิตร ไม่รวมภาษี ถ้าซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ จากเทรนด์ปี 2022 ที่ 80-90 บาท ดังนั้น ปี 2030 จะต้องดูดีมานด์และซัพพลายอีกครั้ง
ยืนยัน "วัตถุดิบ" ไม่จำกัด
ส่วนวัตถุดิบไม่ได้จำกัดที่น้ำมันพืชใช้แล้วอย่างเดียว ในทางปฎิบัติสามารถใช้วัตถุดิบจากกรดไขมันปาล์ม หรือไขจากพืชหรือสัตร์ได้
อัลฟ่าฯถือหุ้นมีผลหรือไม่ ?
ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องที่ "อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี" เข้ามาถือหุ้น ซึ่งทางเราก็อยากทราบเช่นกันว่าเพราะอะไร อย่างไร เบื้องต้นทางอัลฟ่าฯยังไม่มีการพูดคุยกับเรา ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
จากข้อมูลล่าสุด โพสต์ทูเดย์ พบว่า "บริษัท อัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด" ถือครองหุ้น BCP รวมทั้งสิ้น 161,057,515 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 11.6969% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท นั่งแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4
ถามว่า..ตอนนี้ขาเก้าอี้ยังแข็งแรงหรือไม่ ?
"ชัยวัฒน์ ส่งยิ้มหวานแทนคำตอบ"