posttoday

โบรกเกอร์-เฒ่าทารก

04 พฤศจิกายน 2558

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจโบรกเกอร์ในประเทศไทย มีมาประมาณ 40 ปี พอๆกับอายุของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ถือว่ามีอายุไม่น้อย การซื้อขายตราสารทุนในประเทศไทยถ้านับตั้งแต่ตลาดแลกเปลี่ยนแรกซึ่งมีชื่อว่าตลาดหุ้นกรุงเทพ ( BANGKOK STOCK EXCHANGE ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือน กรกฎาคม 2505 เท่ากับผ่านมา 53 ปี แล้วเสียด้วยซ้ำ เป็นสถานที่สำหรับสมาชิกมาชุมนุมเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุน เป็นการซื้อขายหุ้นที่สมาชิกกระทำให้ลูกค้าโดยมิได้กระทำในตลาดหุ้น แต่จะกระทำที่สำนักงานของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป เห็นได้จากมูลค่าซื้อขายมีเพียง 160 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2511 และ 114 ล้านบาทในปี พ.ศ.2512 แล้วกลับไปเหลือเพียง 46 ล้านบาทในปี 2513และ 28 ล้านบาทในปี 2514

ในขณะที่การซื้อขายหุ้นกู้มีมูลค่าถึง 87 ล้านบาทในปี พ.ศ.2515 และในปีนั้นเองมีการซื้อขายหุ้นเพียง 26 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าความนิยมในการซื้อขายหุ้นในสมัยนั้นมีน้อย จากการที่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุน รวมทั้งการที่มีการประชาสัมพันธ์ตลาดหุ้นกรุงเทพน้อยมาก และในสมัยนั้นยังไม่มีสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TV วิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ที่ FOCUS ในด้านหุ้นเลย  INTERNET ก็ยังไม่มีใช้ พัฒนาการของบริษัทต่างๆในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเกิดจากเงินทุนของเจ้าของกิจการ หรือเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

จนกระทั่งต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 โดยกระทรวงการคลังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งตลาดหุ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมและการระดมทุนในประเทศ แล้วจึงได้เปิดการซื้อขายตราสารทุนครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยมีที่ทำการแรกอยู่ที่ อาคารศูนย์การค้าสยาม จนมาถึงปี 2526 จึงได้มีการย้ายที่ทำการไปยังอาคาร สินธร ถนนวิทยุ (นี่คือเหตุผลที่ใช้ชื่อห้องสินธร สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ด้านตลาดทุนใน PANTIP) จนกระทั่งล่าสุดได้ย้ายมาที่ถนนรัชดาภิเษกข้างๆศูนย์สิริกิตต์ อีกไม่นานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะย้ายไปอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษกเช่นกันในช่วงระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินพระราม 9 กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย(ที่มา : WIKIPEDIA)

การซื้อขายตราสารทุนในสมัยก่อนใช้การเคาะกระดาน ซึ่งโบรกเกอร์แต่ละรายจะส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปอยู่ในห้องซื้อขายหุ้นที่เป็นห้องกระจก ซึ่งนักลงทุน หรือผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถที่จะไปยืนดูได้ นักลงทุนสมัยก่อนพกกล้องส่องทางไกลไปยืนชิดติดกระจก เพื่อจะส่องดูคำสั่งซื้อขายที่อยู่ในมือจของมาร์เก็ตติ้งที่ไปเคาะกระดาน เพื่อดูว่าเป็นออร์เดอร์ซื้อขายหุ้นอะไร จำนวนที่ซื้อขายมากน้อยเท่าใด โดยมาร์เก็ตติ้งก็จะเขียนหมายเลขสมาชิกโบรกเกอร์ของตนบนกระดานหุ้นตรงช่องหุ้นที่มีคำสั่งซื้อ หรือ ขาย ( BID/ OFFER ) ตามลำดับเรียงลงมาเป็นคอลัมน์ทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขาย

เมื่อมีออร์เดอร์ที่เคาะซื้อหรือขาย มาร์เก็ตติ้งจะวิ่งไปเคาะกระดานที่หุ้นตัวนั้นๆ ถ้าเป็นออร์เดอร์ซื้อก็จะไปเคาะกระดานตรงช่องที่เสนอขาย โดยโบรกเกอร์ที่อยู่ในลำดับบนสุดก็จะรีบวิ่งมาหามาร์เก็ตติ้งที่เคาะซื้อแล้วสอบถามกันว่าจะซื้อจะขายหุ้นตัวนี้กี่หุ้น ถ้าออร์เดอร์ซื้อมีมากกว่า มาร์เก็ตติ้งที่เคาะซื้อก็จะเคาะกระดานที่จุดเดิมต่อ โบรกเกอร์ลำดับถัดไปก็จะวิ่งมาในลักษณะเดียวกัน จนกว่าออร์เดอร์ซื้อขายจะได้หุ้นครบ ถ้าเคาะซื้อจนหมดที่โบรกเกอร์อื่นตั้งขายแล้ว มาร์เก็ตติ้งที่เคาะซื้อก็ก็จะลบหมายเลขโบรกเกอร์ฝั่งที่เสนอซื้อหมด แล้วเขียนหมายเลขตัวเองที่ฝั่งเสนอซื้อเป็นลำดับแรก  ถ้ามีลูกค้าโบรกเกอร์อื่นๆส่งคำสั่งซื้อมาที่ราคาเดียวกัน มาร์เก็ตติ้ง
โบรกเกอร์นั้นก็จะมาเขียนหมายเลขโบรกเกอร์ของตนต่อแถวยาวลงมาตามลำดับว่าใครมาถึงกระดานก่อน ดังนั้นมาร์เก็ตติ้งที่อยู่ในห้องกระจกนั้น จะต้องทะมัดทะแมง วิ่งเร็ว เพื่อชิงลำดับที่จะเขียนบนกระดานให้เป็นลำดับแรกๆ เพื่อจะได้มีโอกาสซื้อหรือขายก่อนคนอื่น ในสมัยนั้นนักลงทุนก็ติดตามหุ้นจากการรายงานวิทยุ ต่อมาก็มีการรายงานทาง TV

จนกระทั่งต่อมานักลงทุนรุ่นหลังๆ ได้รับความสะดวกในการซื้อขายมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบเคาะกระดานมาเป็นการซื้อขายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าการซื้อขายหุ้นมากขึ้นตามลำดับ ยิ่งสมัยปัจจุบัน สามารถใช้ APP ส่งคำสั่งซื้อหรือขาย หรือเช็คหุ้นได้จาก GADGET ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SMART PHONE หรือ TABLET  ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่จุดไหนของโลกใบนี้ ขอเพียงเข้าถึง อินเตอร์เนตได้ ก็สามารถทำการซื้อขายหุ้นได้

กลับมาที่อุตสาหกรรมโบรกเกอร์ที่มีอายุมา 40-50ปีแล้ว ทำไมยังจะต้องมีการกำหนดค่าคอมขั้นต่ำ แทนที่จะปล่อยเสรีเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ผมไม่เคยเห็นอุตสาหกรรมไหนกำหนดราคาขั้นต่ำของสินค้าและบริการเลย ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว คอนโด เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ การกีดกันโบรกเกอร์ที่กำหนดค่าคอมมิชชั่นที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สมาคมโบรกเกอร์กำหนดไว้ รวมทั้งบทลงโทษ อย่างเช่นร็วๆนี้มีโบรกเกอร์รายใหม่ที่พึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีนโยบายเก็บค่าคอมในอัตราที่ต่ำ ก็ถูกรับน้องจากโบรกเกอร์หัวโบราณ นี่ยังไม่นับการที่มาร์เก็ตติ้งจะย้ายค่ายในอดีตก็เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผมเห็นอุตสาหกรรมอื่นซื้อตัวพนักงานเก่งๆ ไม่เห็นมีใครว่าเลย อุตสาหกรรมโบรกเกอร์ก็เทียบเป็นวัยกลางคนแล้ว เลิกทำตัวเป็นเฒ่าทารกกันเสียที