posttoday

ธปท.-กนง (ตอนที่ 3 ต้มยำกุ้ง (ต่อ)

03 ธันวาคม 2558

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย...กิติชัย เตชะงามเลิศ  นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

2 บทความที่แล้วนอกจากกล่าวถึงความเป็นมาของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รวมถึงบทบาทของ ธปท.ในช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2541 และผลกระทบต่อนักลงทุน นักเก็งกำไร และประชาชนทั่วไป โดยผมค้างไว้ถึงช่วงที่ผมต้องตัดขาดทุนขายหุ้นไปบางส่วน เพื่อล้างหนี้ MARGIN เพื่อเก็บสภาพคล่องไว้กับตัวบางส่วน เพราะว่าไม่แน่ใจว่าวิกฤติต้มยำกุ้งจะคงอยู่กับประเทศไทยนานเพียงใด

แต่จากที่ร่ำเรียนมา วัฏจักรเศรษฐกิจมีขาลงและขาขึ้น เพียงแต่ไม่ว่าช่วงเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจะเป็นรูปตัว V หรือตัว U ที่ฐานแคบหรือกว้างก็ยังคาดเดาไม่ถูกในสมัยนั้น แต่คาดว่าน่าจะเป็นตัว U ฐานกว้าง แล้วก็เป็นจริง คือเราต้องจมอยู่ในภาวะเศรฐกิจถดถอยไปหลายปีเลยทีเดียว กว่าเศรฐกิจไทยจะโงหัวขึ้น

ช่วงนั้นผมแทบจะหยุดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรทุกชนิด รักษาเงินที่มีอยู่เอาไว้ไม่ให้เสียหายเพิ่มเติม ช่วงนั้นคิดอยู่อย่างเดียวคือ จะรอเอาคืนช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ถ้าช่วงนั้นผมไม่ตัดสินใจขาย Cut loss หุ้น ผมคงล้มละลายไปแล้ว

คิดดูสิครับ ช่วงที่ผมเข้าน่าจะประมาณ 1300-1400 จุด แล้ว SET Index ก็ไหลลงมาที่ 204 จุด หลายๆบริษัทที่ต้องล้มละลายกิจการไปทั้งๆที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น ธนสยาม ร่วมเสริมกิจ ศรีมิตร ฯลฯ และที่ล้มดังที่สุดก็คือกลุ่ม เอกธนกิจ(FIN I)ที่เป็นหุ้นขวัญใจทั้งนักลงทุน และนักเก็งกำไร เป็น Growth Stock ตัวหนึ่ง

การเติบโตนอกจากเป็น Organic growth แล้วยังเกิดจากการไปไล่ Take Over กิจการอื่นๆเขามาอยู่ในเครือ จากการที่รายได้และกำไรที่มีการขยายตัวสูง นักลงทุนจึงยอมจ่ายเงินที่จะซื้อหุ้นตัวนี้ในราคาที่มีค่า P/E ที่สูง เมื่อ FINI ไปซื้อกิจการที่มีค่า P/E ที่ต่ำกว่า แต่เมื่อนำรายได้และกำไรมารวมในเครือเดียวกัน นักลงทุนยอมจ่ายที่ค่า P/E ที่สูง FINI ยิ่งไปเทคโอเวอร์กิจการอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นกิจการ Holding  ที่มีรายได้ กำไร และสินทรัพย์ โตเร็วอันดับต้นๆของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนนักลงทุนแทบจะคิดว่า FINI นี่ TOO –BIG –TO –FALL 

แต่ในที่สุดวิกฤตต้มยำกุ้งก็ปิดฉาก FINI พร้อมกับบริษัทจดทะเบียนอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่กู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนและหรือเพื่อเก็งกำไร ลองคิดดูสิครับกู้มา 100 ล้าน $ ในตอนที่เริ่มกู้ ค่าเงินอยู่แถวๆ 26-27 บาท เพราะว่าในสมัยนั้นค่าเงินบาท PEG อยู่กับค่า.$.และเป็นอย่างนั้นมาช้านาน จนเอกชนไทยไม่ระมัดระวัง ไม่มีการซื้อ Forward เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน แล้วบางบริษัทแย่กว่านั้น เดิมมีธุรกิจหลักที่ไม่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ก็กู้เงินมาสร้างอาคารสำนักงานออกมาขายและให้เช่า หรือคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัยออกมาขาย พอวิกฤติเศรษฐกิจ Demand หดหายไปอย่างรุนแรง

ตึกเหล่านี้ก็ขายไม่ออก ไหนจะต้องจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ แถมหนี้ที่เคยกู้มา 100 ล้านเหรียญ คิดเป็น 2,700 ล้านบาท

แต่พอค่าเงินบาทอ่อนลงไปเรื่อยๆ ยิ่งช่วงที่ขึ้นไปที่ 50 กว่าบาท/$ เงินกู้จะกลายเป็น 5,000กว่าล้านบาททันที เจ้าหนี้ก็เร่งทวงหนี้ทั้งต้นทั้งดอก อย่างนี้ธุรกิจอะไรจะอยู่รอดได้ ถึงแม้อยากจะตัดขายอาคารเหล่านี้ทิ้ง ก็ขายยากเพราะ Demand แทบไม่มีในตลาดเลย เลยทำให้ราคาอาคารเหล่านี้ตกลงอย่างมาก โดยเฉพาะในแถบทำเลที่ไม่ค่อยดี ราคาลดลงเกินครึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

ในช่วงนั้นจะเห็นอาคารที่สร้างเสร็จและไม่เสร็จมากมาย หลายๆอาคารเมื่อมองในยามค่ำคืน จะเห็นห้องที่เปิดไฟมีเพียงไม่กี่ห้องเท่านั้น แสดงว่าคนที่ซื้ออยู่จริงน้อยกว่ากลุ่มนักลงทุนและนักเก็งกำไร  ส่วนประชาชนคนทำมาหากินที่ผ่อนบ้านเพื่ออยู่อาศัยเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทห้างร้านปลดพนักงานออกส่วนหนึ่ง เพราะว่ายอดขายลดลงอย่างมาก พนักงานกลุ่มนี้ รวมทั้งเจ้าของธุรกิจรายย่อยที่ธุรกิจแย่ลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้รายได้ลดลง ตัวพนักงานเองถึงแม้บางรายที่โชคดีไม่ได้ถูกปลดออก แต่ก็ถูกลด OT ลง ทำให้มีผลกระทบต่อรายได้รวมที่ได้รับ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ไม่พอส่งธนาคารเพื่อผ่อนบ้านดังกล่าว ทำให้มีบ้านทีถูกยึดในสมัยนั้นเยอะมาก แต่ว่าวิกฤตก็มีโอกาสให้ธุรกิจบางประเภทกลับรุ่งเรืองขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจนี้คืออะไร มาติดตามอ่านในบทความหน้าครับ