posttoday

แนวพระราชดำริ สู่แนวคิดจัดสรรลงทุน

13 กุมภาพันธ์ 2560

โดย...กรวิภา วรรณแสวง กองทุนบัวหลวง

โดย...กรวิภา วรรณแสวง กองทุนบัวหลวง

เนื่องด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้แบ่งสรรพื้นที่เพื่อการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่หนึ่ง เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำประจำไร่นา เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมทั้งการเกษตร หัวใจในการเพาะปลูกก็คือ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ทำเกษตร ในลักษณะไร่นาสวนผสม ซึ่งปลูกข้าวร่วมกับปลูกพืชผัก ผลไม้ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแต่ละท้องถิ่น และส่วนที่เหลือ เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ หรือไว้กองปุ๋ยกองฟาง

ทั้งหมดนี้เป็นแนวพระราชดำริเพื่อให้เกษตรกรทำกินหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างพอเพียง ผลิตผลส่วนที่เหลือเกินจากเลี้ยงตัวค่อยนำไปขายสร้างรายได้ การทำไร่นาสวนผสมจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาผลผลิตพืชแต่ละชนิด เพราะมุ่งปลูกพืชเพียงชนิดเดียวย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ออกแบบวางแปลนที่ดินให้เหมาะสม รวมทั้งต้องตัดสินใจเลือกพืชที่จะปลูกเลือกสัตว์ที่จะเลี้ยง เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกัน และควรรู้ว่าเมื่อดำเนินการไปแล้วจะขายสร้างรายได้ได้อย่างไรด้วย แนวพระราชดำริดังกล่าวเปรียบได้กับการจัดสรรเงินลงทุน โดยนำสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน มาจัดสัดส่วนให้ผสมกันอย่างพอดีในพอร์ตลงทุน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า

การจัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตควรผสมผสานระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกับสินทรัพย์เสี่ยงสูง โดยหลักใหญ่ก็คือ ให้สินทรัพย์เสี่ยงต่ำทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม ส่วนที่เหลือนั้นควรลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น ตราสารทุน เพื่อช่วยยกระดับผลตอบแทนของพอร์ตให้สูงขึ้น

ผู้ลงทุนต้องจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะสมตามช่วงวัย หรือตามความพร้อมยอมรับความเสี่ยงในแต่ละบุคคล หากเลือกลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเดียว ความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมย่อมสูงจนเกินไป แต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วย แต่หากลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนที่ได้อาจต่ำเกินไปเสียอีก ดังนั้นควรหาเส้นทางสายกลาง ผสมผสานการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งสองประเภท ไปตามความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนรับได้

ทั้งนี้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะผสมผสานสัดส่วนของตราสารในพอร์ตลงทุนแล้ว ต่อมาควรหมั่นตรวจสอบน้ำหนักการลงทุนเป็นระยะ เพื่อควบคุมสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ให้เป็นไปตามแผนลงทุนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น เปรียบได้กับการดูแลพื้นที่เพาะปลูก ท่านควรออกไปดูแล หมั่นตัดแต่ง รดน้ำ พรวนดิน ปรับสัดส่วนพื้นที่เป็นระยะๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ตราสารในพอร์ตอาจเติบโตจนสร้างผลตอบแทนต่างไปจากเดิม จนน้ำหนักการลงทุนในแต่ละตราสารเติบโตอย่างไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ เพราะหากไม่ปรับเพื่อคงสัดส่วนไว้เหมือนตอนแรกเริ่ม อาจทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ จนเป้าหมายลงทุนหันเหไปจากที่ตั้งใจไว้ เราจึงไม่ควรละเลยปล่อยไว้เหมือนกับที่ดินรกร้างที่ไม่มีใครใส่ใจจัดระเบียบ