แข่งปีนต้นไม้
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มรู้จักกับอาชีพ “รุกขกร” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งดูแลต้นไม้ใหญ่
เรื่อง...แสงตะเกียง
ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มรู้จักกับอาชีพ “รุกขกร” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งดูแลต้นไม้ใหญ่ ทว่าน่าเสียดายที่อาชีพนี้ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ทางวิชาการและความสามารถในทางปฏิบัติอยู่จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความต้องการทั้งประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องจัดการแข่งขันฝึกอบรมเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางด้านนี้ให้มากขึ้น และถ่ายทอดความรู้ให้กับรุกขกรรุ่นใหม่ต่อไป
จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มีโอกาสจัดแข่งขันปีนต้นไม้นานาชาติ ประจำปี 2561 เป็นครั้งแรก ที่เกาะลอย สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ในชื่อ Thailand Tree Climbing Championship (TTCC 2018)
เพื่อยกระดับฝีมือและสร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี พร้อมทั้งมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน กำหนดทำการแข่งขันระหว่างวันที่ 14-16 ธ.ค. 2561 โดยวิทยากรที่มีใบอนุญาตการทำงานและอบรมด้านการตัดแต่งต้นไม้ในแนวสายไฟตามมาตรฐานสากลให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งมีทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.การกู้ภัยในกรณีมีผู้บาดเจ็บบนต้นไม้ 2.การปีนแบบมีผู้คอยผ่อนเชือกให้ 3.การปีนด้วยการล็อกเชือกด้วยเท้า 4.การปีนเพื่อขึ้นไปทำงานบนต้นไม้ และ 5.การเซตเชือกปีนด้วยการโยนตุ้มทราย
เกณฑ์การตัดสินจะตรวจสอบดูทักษะการปีนที่ถูกต้อง ปลอดภัย และทักษะการตัดแต่งกิ่งโดยไม่ทำให้ต้นไม้เสียหายภายในระยะเวลาที่กำหนด
เรื่องนี้มีหัวใจสำคัญตรงที่ต้นไม้ใหญ่เป็นกลไกสำคัญในการกรองฝุ่นละออง ลดอุณหภูมิ และบรรเทามลพิษทางอากาศ รักษาสภาพแวดล้อม จึงต้องมีการบริหารจัดการดูแลรักษาตัดแต่งต้นไม้ด้วยความรู้และทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นไม้ใหญ่ในเมืองมีความแข็งแรง ปลอดภัย อยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนและเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย จึงมีการปรับปรุงหลักการตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟ
ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาความรู้และศักยภาพด้านรุกขกรรมของรุกขกรไทยสู่ระดับสากล อีกทั้งทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันยังเป็นกำลังสำคัญในการดูแลต้นไม้ บ่มเพาะหลักวิชาการที่ถูกวิธี แก้ปัญหาตัดต้นไม้ใหญ่จนเหลือแต่ตอ อย่างที่เคยปรากฏภาพผ่านทางสังคมโซเชียลกระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก่อนหน้านี้
สำหรับผลการแข่งขันปรากฏว่ารางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ ได้แก่ Liu Waikin รางวัลชนะเลิศชาย ได้แก่ วีรยุทธ เงินชุ่ม และรางวัลชนะเลิศหญิง ได้แก่ พรนภา ศิริบุญญฤทธิ์ แม้จะเป็นก้าวแรกของประเทศไทย แต่ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้นานาชาติเห็นว่าคนไทยก็ใส่ใจกับต้นไม้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแข่งขันปีนต้นไม้ได้มีการจัดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และแถบเอเชียอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และปีนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญการตัดแต่งต้นไม้ หรือรุกขกรอาชีพทั้งคนไทยและต่างประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อยกระดับฝีมือและสร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี
ต่อจากนี้ไปหน่วยงานภาครัฐต้องเปลี่ยนความคิดว่าต้นไม้เป็นทรัพย์สินไม่ใช่สิ่งกีดขวาง เพราะต้นไม้มีประโยชน์มากกว่าแค่เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากยึดหลักวิชาการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ต้นไม้กับสายไฟอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน